บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร(CPF)คาดว่ายอดขายในปี 54 จะเติบโตราว 5-10% จากปีนี้ และมีโอกาสที่จะสร้างกำไรในระดับที่ดีต่อเนื่องจากปีนี้เช่นกัน ขณะที่รายได้ในปีนี้ก็คาดว่าจะทำได้ทะลุเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ 1.8 แสนล้านบาท โดยบริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า เนื่องจากบริษัทสามารถเจรจากับลูกค้าเพื่อขอปรับราคาได้
นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร CPF กล่าวว่า ในปีนี้ คาดว่าจะมีรายได้ทะลุ 1.8 แสนล้านบาท โดยน่าจะอยู่ที่ 1.85-1.90 แสนล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิทั้งปีน่าจะเติบโตไม่น้อยกว่า 30% จากปีก่อน โดยช่วง 9 เดือนแรกกำไรสุทธิเติบโตแล้ว 42% จากปีก่อน ส่วนปี 54 แนวโน้มกำไรสุทธิน่าจะเติบโตได้ต่อเนื่องจากปีนี้
ทั้งนี้ ในปี 54 บริษัทตั้งงบลงทุนจำนวน 6 พันล้านบาท สูงกว่าปี 53 ที่อยู่ 5 พันล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในต่างประเทศ แบ่งเป็น รัสเซีย อินเดีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และ ตุรกี จำนวน 4 พันล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 2 พันล้านบาทจะลงทุนในธุรกิจกุ้งและธุรกิจค้าปลีก เช่น ไก่ย่าง 5 ดาว ซีพีเฟรชมาร์ช โดยแหล่งเงินลงทุนมาจากผลกำไรของบริษัทในปี 53 ที่คาดว่าจะมีกว่า 1 หมื่นล้านบาท รวมถึง cash flow และ EBIDA
นายอดิเรก กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจศักยภาพตลาดต่างประเทศเพื่อเข้าไปลงทุนอีก 2 แห่ง คือ กัมพูชา และบังคลาเทศ ซึ่งมีโอกาสที่จะเข้าไปลงทุนเพิ่มเติม คาดว่าจะมีข้อสรุปภายในสิ้นปี 53 หรือต้นปี 54 เพื่อเสนอคณะกรรมการบริษัทต่อไป โดยการลงทุนของ 2 ประเทศดังกล่าว ไม่รวมอยู่ในงบลงทุนปี 54 ที่ตั้งไว้
อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ชะลอแผนการลงทุนในประเทศเคนย่า เนื่องจากตลาดยังมีขนาดเล็ก ส่วนที่ประเทศแทนซาเนีย ยังคงเดินหน้าตามแผน
และในวันที่ 1 ม.ค.54 ห้างสรรพสินค้าวอลล์มาร์ทของสหรัฐจะให้ CPF นำสินค้าประเภทเกี๊ยวกุ้ง และบะหมี่เกี๊ยวกุ้ง เข้าไปวางจำหน่ายในเฟสแรกประมาณ 500 จุด และหากวอลล์มาร์ทให้ขยายจุดจำหน่ายสินค้าเพิ่มเติม บริษัทก็อาจต้องขยายโรงงาน และสร้างห้องเย็นเพิ่มเติมในอนาคต นอกจากนี้ยังมีห้างสรรพสินค้าในสหรัฐและยุโรปอีกหลายแห่งที่อยู่ระหว่างศึกษาเพื่อขยายตลาดเพิ่มเติม
นายอดิเรก กล่าวอีกว่า ความเสี่ยงของการลงทุนในปี 54 คือ ราคาวัตถุดิบในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นรวดเร็ว รวมถึงการเก็งกำไรในสินค้าโภคภัณฑ์ ทำให้ราคาพืชผลทางการเกษตรในตลาดโลกเพิ่มขึ้น เช่น ข้าวโพด ถั่วเหลืองมีราคาสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน รวมถึงเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่า สะท้อนเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น บริษัทจึงต้องมีการบริหารต้นทุนอย่างดี เช่น มีการสต็อคกากถั่วเหลืองล่วงหน้าจนถึงกลางปี 54 ซึ่งมีราคาถูกกว่าราคาปัจจุบัน 2-3 บาท/กก.ทำให้มั่นใจว่าต้นทุนคงไม่ปรับสูงขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงเรื่องโควต้าการส่งออกและการกีดกันทางการค้า เช่น ไก่ ที่มีโควต้าส่งออกในยุโรปค่อนข้างเต็มแล้ว จึงต้องมีการเจรจาขอเพิ่มโควต้า รวมถึงการบริหารสินค้าไม่ให้อยู่ในระบบโควต้า ประกอบกับยังมีความเสี่ยงเรื่องโรคระบาดในสัตว์ แต่บริษัทมีระบบป้องกันที่เป็นมาตรฐาน แต่สิ่งที่กังวลคือ ความรู้สึกของผู้บริโภค เช่น การไม่กินไก่ หมู เพราะโรคระบาด
สำหรับเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น บริษัทไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากมีการต่อรองกับคู่ค้าเพื่อปรับราคาขายสินค้า เช่น ปรับราคาขายกุ้งได้ 30% ขณะที่เงินบาทแข็งค่า 10% หักกันแล้วบริษัทยังมีส่วนต่างที่เป็นกำไร เนื่องจากราคากุ้งที่ปรับขึ้นสูงกว่า แต่ไก่มีการปรับขึ้นราคาได้แค่ 5-7% ยอมรับว่าอาจเสียเปรียบจากเงินบาทแข็งค่าบ้าง 2-3% บริษัทจึงต้องวางแนวทางการปรับลดต้นทุน หรือการปรับขึ้นราคาขาย
อย่างไรก็ตามในปี 54 มองว่า เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นไปอยู่ที่ 28.00-28.50 บาท/ดอลลาร์ บริษัทจึงลดความเสี่ยงโดยการทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไว้ด้วย
ส่วนการขายหุ้นที่ซื้อคืนมานั้น ขณะนี้คณะกรรมการยังไม่มีการพิจารณา เนื่องจากยังมีเวลาเหลืออีก 15 เดือน ก่อนที่จะต้องลดทุนในส่วนนี้ อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่างมองว่าเป็นผลดี เพราะซื้อหุ้นคืนที่ราคา 3.60 บาท/หุ้น ปัจจุบัน ราคาหุ้นอยู่ที่ 22-23 บาท/หุ้น ดังนั้น ไม่ว่าจะขายในช่วงไหนก็ยังเป็นกำไรต่อบริษัท หรือหากเลือกใช้วิธีลดทุนก็จะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทและผู้ถือหุ้น ขณะที่ฐานการเงินของบริษัทยังคงแข็งแกร่งต่อเนื่อง โดยปีนี้จ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ โดย 4 ปีแรก อยู่ที่ 3% กว่า และปีนี้จ่ายดอกเบี้ยต่ำกว่าปีก่อน ทำให้ผลการดำเนินงานบริษัทดีขึ้น