กลุ่มอสังหาฯอ่อนลง แนะลดน้ำหนักลงทุนหลังธปท.จะคุมสินเชื่อ-ดบ.มีแววขึ้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 11, 2010 10:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์อ่อนตัวลงทั่วหน้า โดยเมื่อเวลา 10.43 น.มี 5 หุ้นนำดิ่ง ได้แก่ หุ้น SPALI อยู่ที่ 10.80 บาท ลดลง 0.60 บาท(-5.26%) มูลค่าซื้อขาย 87.32 ล้านบาท

หุ้น PS อยู่ที่ 20.40 บาท ลดลง 1 บาท(-4.67%)มูลค่าซื้อขาย 81.48 ล้านบาท

หุ้น LPN อยู่ที่ 9.40 บาท ลดลง 0.40 บาท (-4.08%)มูลค่าซื้อขาย 116.45 ล้านบาท

หุ้น AP อยู่ที่ 5.90 บาท ลดลง 0.25 บาท(-4.07%)มูลค่าซื้อขาย 103.55 ล้านบาท

หุ้น LH อยู่ที่ 6.80 บาท ลดลง 0.25 บาท(-3.55%)มูลค่าซื้อขาย 46.17 ล้านบาท

บล.เอเชีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ฯ ปรับลดน้ำหนักกลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัยจาก"เท่ากับตลาด"เป็น"น้อยกว่าตลาด"เนื่องจากได้มองผลกระทบในเชิง Sentiment ต่อประเด็นที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ยังแสดงจุดยืนที่จะควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย ประกอบกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นว่าจะปรับขึ้น ทำให้คาดว่าจะเห็นการปรับตัวลดลงของหุ้นในกลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัยในช่วงจากนี้ไป

หุ้นที่อาจพอเลือกถือไว้ในพอร์ตการลงทุนได้ น่าจะเป็นหุ้นที่มี Dividend Yield สูง และราคายังต่ำกว่า Fair Value ค่อนข้างมาก ซึ่งเด่นที่สุดได้แก่ SPALI และ SC อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ว่าจากนี้ไปอาจเห็นการทยอยปรับลดประมาณการและ Fair Value ของหุ้นในกลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัยลง เพื่อสะท้อนผลของนโยบายการควบคุมสินเชื่อดังกล่าว

หลังจากที่ผู้ประกอบการเข้าชี้แจงข้อมูลธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต่อ ธปท.เมื่อวานนี้ ทำให้การมองภาพธุรกิจสอดคล้องกันมากขึ้น โดยเห็นว่ายังไม่เกิดสัญญาณฟองสบู่ขึ้นในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของผู้ดูแลด้านนโยบายการเงิน ยังคงเห็นว่ามีความจำเป็นต้องออกมาตรการเพื่อป้องกันการเกิดภาวะฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว

แนวทางของนโยบายอาจเป็นการควบคุมเรื่องการปล่อยสินเชื่อสำหรับสินค้าทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นคอนโดมิเนียม หรือ บ้านเดี่ยว-ทาวเฮ้าส์ การแสดงจุดยืนของ ธปท.ดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวอย่างมาก โดยเฉพาะในส่วนของนโยบายการขายสินค้าที่อาจต้องเพิ่มเงินดาวน์ให้สูงขึ้นให้สอดรับกับ LTV (Loan to Value) ที่จะมีการกำหนดออกไป ซึ่งหากต้องเพิ่มเงินดาวนขึ้นมามากก็อาจกระทบต่อยอดขายของผู้ประกอบการในอนาคต

ส่วนอีกปัญหาหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่า คือรายการขายที่เกิดไปแล้วและรอส่งมอบ ซึ่งปัจจุบันในส่วนของบริษัทจดทะเบียน 14 แห่งที่ฝ่ายวิจัยติดตามข้อมูล มีมูลค่าสูงกว่า 1.1 แสนล้านบาทว่าจะมีแนวทางดำเนินการอย่างไร เพราะหากต้องบังคับใช้ตาม LTV ที่ต่ำลงจากปัจจุบัน อาจทำให้ผู้ซื้อบางส่วนไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ ซึ่งประเด็นดังกล่าวจะกระทบไปถึงฐานะการเงินของผู้ประกอบการได้ และสุดท้ายก็จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อโครงการ(Projects Loan)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ