นายชนะชัย กุลนพฤกษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ.กุลธรเคอร์บี้(KKC)เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า กำลังผลิตคอมเพรสเซอร์ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นอีก 1.2 ล้านเครื่อง/ปีในเดือน ก.พ.54 ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มทดลองเดินเครื่องแล้ว หลังจากได้รับเงินกู้ 8,800 ล้านบาทจากธนาคารกรุงเทพ(BBL)และกสิกรไทย(KBANK)เพื่อนำไปใช้ขยายกำลังการผลิตในกลุ่มบริษัท
ทั้งนี้ บริษัทได้ทยอยเพิ่มกำลังการผลิตคอมเพรสเซอร์ไปส่วนหนึ่งแล้วในปีนี้กว่า 5 แสนเครื่อง/ปี ทำให้ปัจจุบันกำลังผลิตเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ใกล้ 6 ล้านเครื่อง/ปี
อนึ่ง บริษัทในเครือประกอบด้วยบริษัทแม่ผลิตคอมเพรสเซอร์แอร์และตู้เย็น,บริษัทลูก 1 แห่งผลิตคอมเพรสเซอร์ตู้เย็น ส่วนบริษัทลูกที่เหลือผลิตวัตถุดิบ เช่น ลวดทองแดง เหล็กม้วนซึ่งจะทำเป็นหัวมอเตอร์ของคอมเพรสเซอร์ และบริษัททำชิ้นส่วนโลหะเหล็กหล่อ, ชิ้นส่วนโลหะเหล็กทุบ ซึ่งบริษัทเหล่านี้จะเป็นฐานการผลิตเบื้องต้นให้กับเครือ KKC
นายชนะชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาการแต่ละบริษัทในเครือแยกกันกู้เงินจากธนาคาร ซึ่งมีหลักทรัพย์ค้ำประกันแตกต่างกัน ทำให้ไม่คล่องตัวในการนำเงินมาหมุนเวียนในการทำธุรกิจ ประกอบกับ บริษัทเริ่มขยายยอดขายจากการตอบรับของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องนำหลักทรัพย์ทั้งหมดมารวมกัน เพื่อเพิ่มปริมาณเงินทุนหมุนเวียนในกลุ่ม
การกู้เงินแบบ syndicate loan ทำให้สามารถบริหารจัดการการเงินกันภายในกลุ่มและตอบสนองกับการเติบโตของกลุ่มได้ดีขึ้น และด้วยขนาดของวงเงินกู้ทำให้สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายหลายเรื่องได้ ซึ่งจะทำให้การบริหารการหมุนเวียนทางการเงินเราดีขึ้น โดยคาดว่าจะประหยัดค่าใช้จ่ายทางการเงินได้กว่า 10% จากเดิม
*คาดปี 54 รายได้โตไม่ต่ำกว่า 25% จากเป้ารายได้รวมปีนี้ 1.1 หมื่นลบ.
นายชนะชัย กล่าวว่า ผลประกอบการไตรมาส 3/53 รายได้น่าจะเติบโตขึ้น เนื่องจากขายดีจนแทบไม่พอขาย แม้ว่าปกติของธุรกิจนี้ในครึ่งปีหลังจะขายได้น้อยกว่าครึ่งปีแรก เพราะเป็นช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว แต่เนื่องจาก 2-3 ปีนี้โลกร้อนขึ้น ดังนั้น ครึ่งหลังของปีนี้คงจะมียอดขายต่ำกว่าครึ่งปีแรกไม่มากนัก
นอกจากนั้น ในช่วงไตรมาส 3/53 บริษัทได้ซื้อบริษัทที่เกี่ยวข้องมาเป็นบริษัทลูกเพิ่มเติมอีก 2 บริษัท เพราะฉะนั้น ในงบการเงินสำหรับไตรมาส 3/53 ยอดรายได้ก็จะโตขึ้นกว่าไตรมาส 2/53 มาก เนื่องจากมีการรวมรายได้และกำไรของ 2 บริษัทลูกมาอยู่ที่งบรวม แต่ทั้งปี 53 บริษัทยังคงเป้ารายได้รวมที่ 1.1 หมื่นล้านบาท
และปีหน้าคาดว่ารายได้คงจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 25% ไปที่ 1.5 หมื่นล้านบาท โดยรายได้รวมจากทั้ง 2 บริษัทลูกจะเข้ามาเต็มที่ทั้งปี ซึ่งรวมบริษัทลูกทั้งหมดก็จะวิ่งตามแม่ เพราะ KKC ขายได้ดีขึ้นกว่า 20% ขณะที่บริษัทลูกผลิตตถุดิบและชิ้นส่วนเป็นส่วนสนับสนุน ก็จะเติบโตตามกันมา
ขณะที่บริษัทลูกแห่งหนึ่งที่เคยขาดทุนก่อนหน้าก็มีกำไรแล้วในปีนี้ และลูกบริษัทอื่นก็กำไรดีขึ้นหนุนให้ผลประกอบการดีขึ้น เพราะฉะนั้นผลประกอบการของเครือปีนี้ก็จะดีกว่าปีก่อนอย่างมาก และปีนี้ก็ซื้อบริษัทลูกใหม่มาอีก 2 บริษัทที่มีผลกำไรก็จะช่วยเพิ่มผลกำไรเข้ามาอีก และปีนี้บริษัทลูกกับแม่ที่ทำคอมเพรสเซอร์ก็ขยายตลาดเปิดและทำตลาดเพิ่มเติม เช่น ตะวันออกกลาง จีน และอีกหลายประเทศ
อนึ่ง ปัจจุบัน KKC มีบริษัทย่อย ได้แก่ บริษัท กุลธรแมททีเรียลส์แอนด์คอนโทรลส์ จำกัด(KMC), บริษัท กุลธรเมททัลโปรดักส์ จำกัด(KMP) และ บริษัท กุลธรพรีเมียร์ จำกัด(KPC) และ KMC ถือหุ้น 100% ใน SKMC ซึ่งเป็นบริษัทผลิตลวดทองแดงอาบน้ำยาในประเทศจีน
นายชนะชัย กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนส่งออก 65-70% เพราะกำลังการผลิตของบริษัทมากกว่าความต้องการในประเทศ โดยปีนี้มีกำลังผลิตคอมเพรสเซอร์ใกล้ๆ 6 ล้านเครื่อง/ปี ขณะที่กำลังผลิตตู้เย็นรวมทั้งประเทศมี 1 ล้านกว่าเครื่อง แอร์ 8-9 แสนเครื่อง ซึ่งปีหน้าที่ตั้งเป้ารายได้จะโต 25% ก็จะเป็นการเพิ่มกำลังการผลิตเข้าไปในบางรุ่นที่ยังไม่เพียงพอ
สำหรับปัญหาเงินบาทแข็งค่า โดยรวมเรานำเข้าวัตถุดิบเหล็กและทองแดง 70% ของต้นทุนวัตถุดิบ จึงมีผลกระทบบ้างแต่ไม่ใช่ทั้งหมด ขณะที่ต้นทุนราคาเหล็กก็ยังทรงและปรับขึ้นมาบ้าง ส่วนราคาทองแดงปรับขึ้นมากหน่อย ทำให้ต้นทุนโดยรวมเพิ่มขึ้นตามธรรมดา
"บาทแข็งกระทบบ้างแต่ไม่ทั้งหมดรายได้อาจหายไปบ้าง แต่ต้นทุนผลิตวัตถุดิบที่นำเข้าอยู่ประมาณ 70% ของต้นทุนผลิต ส่วนนี้เราก็ได้ save เพราะฉะนั้นผลจากค่าของเงินบาทมีผลกระทบบ้างแต่ไม่ใช่ทั้งหมด และต้นทุนวัตถุดิบมีผลต่อต้นทุนและกำไรเป็นเรื่องปกติ แต่บริษัทยังบริหารได้อยู่"นายชนะชัย กล่าว