ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดร่วงลงต่อเนื่องเมื่อคืนนี้ (12 พ.ย.) จากกระแสคาดการณ์ว่า จีนอาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งเพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น ประกอบกับความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้สาธารณะในไอร์แลนด์
ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปรับตัวลง 90.52 จุด หรือ 0.80% ปิดที่ 11,192.58 จุด ดัชนี S&P 500 ร่วงลง 14.33 จุด หรือ 1.18% ปิดที่ 1,199.21 จุด และดัชนี Nasdaq ดิ่งลง 37.31 จุด หรือ 1.46% ปิดที่ 2,518.21 จุด
ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ราว 8.12 พันล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นลบมากกว่าหุ้นบวกในอัตราส่วน 5 ต่อ 1
ทั้งนี้ มีกระแสคาดการณ์เพิ่มมากขึ้นว่า รัฐบาลจีนอาจใช้มาตรการคุมเข้มนโยบายการเงินเพิ่มเติมเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งข่าวนี้ส่งผลกดดันราคาสินค้าโภคภัณฑ์ให้ร่วงลง เนื่องจากนักลงทุนเชื่อว่าการคุมเข้มนโยบายเศรษฐกิจใดๆ ก็ตามจะทำให้ความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์หดตัวลง
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นจีนปิดตลาดวานนี้ ดิ่งลงถึง 5.16% มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนส.ค. 2552 หรือในรอบ 14 เดือน เนื่องจากนักลงทุนเกรงว่า ธนาคารกลางจีนจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 2 เดือน เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ หลังจากที่รายงานล่าสุดจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนแสดงให้เห็นว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของจีน พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 25 เดือน ที่ 4.4% ในเดือนต.ค. ส่งผลให้นักวิเคราะห์คาดการณ์กันเป็นวงกว้างว่า CPI ตลอดทั้งปีนี้ของจีนจะอยู่ที่ราว 3.1% ซึ่งสูงกว่าระดับเป้าหมายของรัฐบาล
ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และโลหะมีค่าได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยราคาทองแดงทรุดลงเกือบ 3% ในการซื้อขายที่ตลาดนิวยอร์ก และราคาสัญญาน้ำมันดิบตลาดนิวยอร์กร่วงลง 3.3% ท่ามกลางความวิตกว่า การคุมเข้มนโยบายการเงินในประเทศจีนจะส่งผลให้มีการจำกัดความต้องการพลังงานและโลหะอุตสาหกรรม
ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และพลังงานที่ร่วงลงส่งผลให้หุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้อง อาทิ อัลโค ซึ่งเป็นผู้ผลิตอลูมิเนียมรายใหญ่สุดของสหรัฐ ร่วง 2.3% เอ็กซอนโมบิล ลบ 1.2% และ แคตเตอร์พิลล่าร์ ผู้ผลิตเครื่องจักรกลหนัก ลดลง 1.7%
ขณะเดียวกัน ความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้สาธารณะของยุโรปยังคงปกคลุมบรรยากาศการซื้อขาย และเป็นปัจจัยกระตุ้นให้นักลงทุนขายหุ้นเช่นกัน โดยมีกระแสคาดการณ์เพิ่มขึ้นว่า ปัญหาหนี้ในไอร์แลนด์เริ่มที่จะควบคุมไม่ได้ จนส่งผลให้รัฐบาลไอร์แลนด์เตรียมขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ เหมือนกับกรณีที่เคยเกิดขึ้นกับกรีซมาแล้วในปีนี้
โดยถึงแม้ว่า วานนี้ รอยเตอร์/มหาวิทยาลัยมิชิแกนได้เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นของสหรัฐ ในเดือนพ.ย. ที่ระดับ 69.3 จากระดับ 67.7 ในเดือนต.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน และเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา แต่ข้อมูลนี้ไม่สามารถกระตุ้นบรรยากาศการซื้อขายให้เป็นบวกได้
นักวิเคราะห์กล่าวว่า ตลาดอยู่ในช่วงของการปรับฐาน หลังจากที่ในช่วงสัปดาห์ก่อน หุ้นทะยานสูงขึ้น เนื่องจากการรายงานผลประกอบการที่สดใสของหลายบริษัท และจากการที่ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะประกาศใช้มาตรการ QE2