นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน พร้อมด้วยนายรามเนตร ใจกว้าง นายกเทศมนตรีเกาะสมุย ในฐานะประธานเครือข่ายรักษ์อ่าวไทย และชาวบ้านรวม 309 คน ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐ ได้แก่ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ รมว.พลังงาน คณะรัฐมนตรี คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนประทานบัตร หรือใบอนุญาตการประกอบการ หรือใบอนุญาตต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขุดเจาะ สำรวจ หรือผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย จำนวน 26 โ ครงการ และขอให้เพิกถอนการทำรายการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ
รวมทั้งขอให้ศาล มีคำสั่งให้ เกาะพะงัน เกาะเต่า และเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นเขตคุ้มครองสิ่งแวดล้อม เพราะเห็นว่า โครงการดังกล่าว อาจเข้าข่ายเป็นโครงการ หรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และอาจขัดต่อพระราชบัญญัติ สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวทั้ง 3 เกาะ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำให้นักท่องเที่ยวหายไป และอาจกระทบต่อรายได้จาการท่องเที่ยว ปีละไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท
"ใน 1-2 วันนี้ สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และเครือข่ายรักษ์อ่าวไทย เตรียมที่จะยื่นขอคุ้มครองชั่วคราว เพื่อให้ศาลสั่งระงับการดำเนินกิจกรรมของทั้ง 26 โครงการในอ่าวไทย เพื่อให้หน่วยงานรัฐ ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายให้ถูกต้อง"
ด้านนายรามเนตร ใจกว้าง ประธานเครือข่ายรักษ์อ่าวไทย กล่าวว่า ชาวบ้านในพื้นที่ เป็นห่วงว่า จะมีการรั่วไหลของน้ำมัน จากโครงการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมในอ่าวไทย เพราะพบคราบน้ำมันบริเวณชายฝั่งในจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเฉพาะเกาะเต่า ซึ่งได้แจ้งหน่วยงานรัฐเข้ามาดำเนินการแก้ไข แต่กลับได้รับการเพิกเฉย ทำให้ชาวบ้านต้องใช้สิทธิยื่นฟ้องตามกฎหมาย
ทั้งนี้ พบว่ามีแปลงสัมปทานขุดเจาะ สำรวจปิโตรเลียมในอ่าวไทย ของ 4 บริษัท ได้แก่ แปลงสัมปทานจี 6/48 ของบริษัท เพิร์ลออย (อมตะ) ,และแปลงสัมปทาน จี 4/50 ของบริษัท เชฟรอน ,และแปลงสัมปทาน บี 8/38 ของบริษัท ซาลามานเดอร์ และแปลงสัมปทาน จี 5/50 ของบริษัท นิวคอ/สตอล มีระยะห่างจากฝั่งเพียง 42 กิโลเมตร ซึ่งใกล้กับพื้นที่ของทั้ง 3 เกาะ จึงเชื่อว่า จะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต และสภาพเศรษฐกิ จของชุมชน หากมีการขุดเจาะผลิตจริง ถึงแม้ว่าจะมีการคัดค้านจากชาวบ้านในการทำประชาพิจารณ์ก่อนหน้านี้ แต่โครงการดังกล่าว ยังได้รับใบอนุญาตดำเนินการ
น.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน กล่าวว่า การยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นไปตามสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่สามารถทำได้ ส่วนสำหรับการให้มีการยกเลิกสัมปานและการคุ้มครองให้พื้นที่บริเวณอ่าวไทยไม่ให้มีการขุดเจาะสำรวจ จะทำให้มีผลกระทบทางด้านพลังงานของประเทศ โดยปัจจุบันมีการผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยอยู่ที่ 2.4 แสนบาร์เรลต่อวัน ถ้าหากศาลมีคำสั่งคุ้มครองดังกล่าวจริงจะต้องมีการนำเข้าพลังงานอย่างมหาศาล และจะมีความเสี่ยงรวมถึงความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ