TOP ตั้งงบลงทุนปกติ 500-1 พันล้านเหรียญปี 54-58,สรุป M&A 1 ดีลในปี 54

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 18, 2010 13:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ผู้ช่วยกรรมการอำนวยการด้านการเงิน บมจ.ไทยออยล์ (TOP) กล่าวว่า บริษัทตั้งงบลงทุนใน 5 ปีข้างหน้า(54-58)วงเงิน 500 ถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะเป็นการลงทุนในส่วนต่อขยายและปรับปรุงคุณภาพการผลิต ซึ่งไม่รวมการซื้อกิจการใหม่เข้ามาเพิ่ม

ทั้งนี้ ในปี 54 บริษัทจะใช้งบลงทุนถึง 300-400 ล้านเหรียญในการขยายกำลังการผลิตพาราไซลีน และการทำหน่วยการผลิตน้ำมันยางมลพิษต่ำ รวมทั้งโครงการยูโร 4

นอกจากนั้น บริษัทยังสนใจในการเข้าประมูลโรงไฟฟ้า SPP เพิ่มเติมอีก 2 โรง ขนาดกำลังการผลิต 120 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทเชื่อมั่นในศักยภาพว่าจะสามารถทำได้ เพราะจะก่อสร้างในพื้นที่โรงกลั่นของไทยออยล์ และจะใช้ไอน้ำเป็นวัตถุดิบ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นพลังงานที่ได้รับความสนใจ

บริษัทยังมีแผนจะลดต้นทุนการทางเงินด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ แต่ก็จะต้องพิจารณาจังหวะเวลาที่เหมาะสม และสภาพตลาด ซึ่งปัจจุบันต้นทุนทางการเงินของบริษัทเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 4% มูลหนี้ทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 1.25 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดย 40% เป็นหนี้สกุลดอลลาร์ ที่เหลือเป็นสกุลบาท และหากจำเป็นต้องระดมเงิน หรือรีไฟแนนซ์หนี้ด้วยการออกหุ้นกู้ บริษัทก็มีวงเงินที่เหลืออยู่อีก 500 ล้านเหรียญสหรัฐ

ด้านนายสุรงค์ บูลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TOP เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทกำลังพิจารณาทำดีล M&A อยู่ 2-3 ดีล คาดว่าภายในปีหน้าน่าจะมีข้อสรุปได้อย่างน้อย 1 ดีล โดยบริษัทสนใจทั้งกิจการประเภทปิโตรเคมี โรงกลั่น โรงไฟฟ้า และเอทานอล ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

สำหรับผลประกอบการของบริษัทในปีนี้ นายสุรงค์ กล่าวว่า ไตรมาส 4/53 น่าจะออกมาดี เนื่องจากเชื่อว่าจะมีกำไรจากสต็อกน้ำมัน หลังจากราคาน้ำมันปรับขึ้นไปอยู่ที่กว่า 80 เหรียญ/บาร์เรล ขณะที่ต้นทุนของบริษัทอยู่ที่ 74 เหรียญ/บาร์เรล น่าจะได้เห็นกำไรที่แท้จริง ไม่ใช่กำไรทางบัญชี

ขณะที่โรงไฟฟ้าของบริษัท ผลิตไฟฟ้าอิสระ(ประเทศไทย) จำกัด(IPT)ในเครือ TOP ขนาดกำลังผลิต 700 เมกะวัตต์ ที่หยุดเดินเครื่องผลิตไปในช่วงกลางปี เนื่องจากเกิดปัญหาการรั่วไหลของน้ำมันหล่อลื่น คาดว่าจะกลับมาเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ช่วงปลายเดือน พ.ย.53 อย่างไรก็ตาม โรงไฟฟ้าแห่งนี้สร้างผลกำไรให้กับบริษัทประมาณ 150 ล้านบาท/ปี จากสัดส่วนถือหุ้น 55% ดังนั้น การที่ปิดซ่อมแซมไปนาน ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการโดยรวมมากนัก

ส่วนในปี 54 บริษัทมองว่าธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมีจะกลับมาดีขึ้น โดยบริษัทได้มีการเตรียมความพร้อมจากการปิดซ่อมแซมเพื่อปรับปรุงคุณภาพในปีนี้ ทำให้การใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับ 94-95% แต่ในปี 54 จะเพิ่มเป็น 102% และไม่มีแผนการปิดซ่อมบำรุงใหญ่ในปีหน้าด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ