PF คาดปี 54 รายได้ 1.5 หมื่นลบ.จากราว 1 หมื่นลบ.ปีนี้,อัตรากำไรดีขึ้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 18, 2010 16:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชายนิด โง้วศิริมณี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค(PF) คาดว่า ยอดขายและรายได้ในปี 54 จะเพิ่มขึ้นมาที่ 1.5 หมื่นล้านบาท จากที่ทำได้ราว 1 หมื่นล้านบาทในปีนี้ และอัตรากำไรน่าจะดีขึ้น เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการบริหารการขายลดลง

ในปีหน้าบริษัทมีเป้าหมายเปิดตัวโครงการใหม่ 15 โครงการ ด้วยเงินลงทุนรวม 1.6 หมื่นล้านบาท และมีงบฯในการซื้อที่ดิน 3 พันล้านบาท จาก 2 ปีที่ผ่านมาใช้งบซื้อที่ดิน 6 พันล้านบาท ส่วนหนึ่งโอนให้หอการค้าไทยมูลค่า 900 ล้านบาท ขณะที่บริษัทมีแลนด์แบงก์ส่วนหนึ่งแล้ว 400 ไร่ น่าจะเพียงพอในการดำเนินโครงการในช่วง 2 ปีข้างหน้า ซึ่งคาดว่า Gross margin จะเพิ่มเป็น 34-35%

สำหรับผลประกอบการในปีนี้ บริษัทคาดว่าจะมียอดขายและรายได้ระดับใกล้เคียงกันที่ 1 หมื่นล้านบาท Gross margin อยู่ที่ 33% ส่วน Net margin อยู่ที่ 10% ลดลงจากปี 52 เนื่องจากปีก่อนบริษัทได้รับยกเว้นภาษี

ปัจจุบัน บริษัทมียอดขายรอโอน(Backlog)มูลค่าประมาณ 3,000 ล้านบาท จะรับรู้รายได้ในปีนี้ 1,000 ล้านบาท ที่เหลือจะทยอยรับรู้ในปี 54 และ 55 โดย Backlog มีจำนวนไม่มากนัก เนื่องจากโครงการส่วนใหญ่เป็นแนวราบ ขณะที่หหากเป็นโครงการคอนโดมิเนียมก็จะมี Backlog มากกว่า

นายชายนิด กล่าวว่า บริษัทมีแผนจะขออนุมัติผู้ถือหุ้นเพื่อกำหนดวงเงินออกหุ้นกู้ในปีหน้าจำนวนไม่เกิน 4 พันล้านบาท เท่ากับปี 53 โดยบริษัทมีความต้องการใช้เม็ดเงินในการก่อสร้างปีหน้ารวม 8 พันล้านบาท ซึ่งจะมาจากทั้งการออกหุ้นกู้ เงินกู้จากสถาบันการเงิน และการระดมทุนผ่านกองทุนอสังหาริมทรัพย์

ทั้งนี้ บริษัทมีแผนจะจัดตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งหลังของปี 54 มูลค่ากองทุน 2.5 พันล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 6% ต่อปี โดยจะขายโครงการคอนโดมิเนียมแบรนด์"ยูนิลอฟ" 3 โครงการ เป็นหอพักนักศึกษาใกล้ ม.เอแบค บางนา, ม.มหิดล และม.เชียงใหม่ เข้าเป็นสินทรัพย์ของกองทุน ขณะที่บริษัทตั้งเป้าหมายจะสร้างอาคารหอพักนักศึกษาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 2-3 โครงการ

อนึ่ง ในวันนี้บริษัทได้มีการลงนามในความร่วมมือกับธนาคารกรุงไทยในการสนับสนุนทางการเงินรองรับแผนการเติบโตของบริษัทในระยะยาว โดยธนาคารกรุงไทยพร้อมสนับสนุนปีละประมาณ 5000 ล้านบาท

นายชายนิด เชื่อว่า ขณะนี้ยังไม่เกิดภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์เห็นได้จากโครงการที่เปิดใหม่โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม เกิดขึ้นไม่มากนัก ส่วนมาตรการ LTV ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ออกมาจะส่งผลกระทบต่อผู้ซื้อตลาดล่างโดยเฉพาะทาวน์เฮ้าส์และคอนโดมิเนียม ระดับราคา 1-2 ล้านบาท/ยูนิต

ดังนั้น รัฐบาลควรมีมาตรการส่งเสริมให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยบ้านหลังแรกและมีมาตรการควบคุมผู้ซื้อบ้านหลังที่ 2-3


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ