PTT ศึกษาลงทุนด้านก๊าซธรรมชาติในอเมริกา-โครงการทวายในพม่า

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 23, 2010 12:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.(PTT) กล่าวว่า กลุ่ม ปตท.กำลังศึกษาลงทุนด้านก๊าซธรรมชาติในอเมริกา หลังจากที่เข้าร่วมลงทุนกับกลุ่ม Statoil สัดส่วน 40% ในแหล่ง Oil Sands Kai Kos Dehseh (KKD)ในประเทศแคนาดา

"การลงทุนใน oil sand แม้ลงทุนสูงผลิตยาก แต่ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง และปริมาณสำรองของโลกใช้ไปมากแล้ว ทำให้แหล่งใหม่ ๆ ที่แม้จะผลิตยากและหายากอย่าง oil sand น่าสนใจ"นายประเสริฐ กล่าว

เช้านี้ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม(PTTEP) เปิดเผยว่า บริษัท PTTEP Netherland Holding Limited ซึ่งเป็นบริษัทย่อยลงนามความร่วมมือกับบริษัท Statoil Canada Ltd. และ Statoil Canada Holdings Corp. ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ Statoil ASA (Statoil) เพื่อเข้าถือหุ้นในแหล่ง KKD ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศแคนาดา คิดเป็นมูลค่าทั้งหมด 2,280 ล้านเหรียญสหรัฐ

นายประเสริฐ กล่าวว่า การลงทุนครั้งนี้ถือเป็นการลงทุนด้านขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมที่มีมูลค่าสูงที่สุดของ PTTEP ซึ่งก่อนหน้านี้เคยมีการลงทุนในระดับใกล้เคียงกันที่ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐในแหล่ง M9 ของพม่า โดยน้ำมันที่ผลิตได้จากแหล่ง KKD จะมีปริมาณเริ่มต้นที่ 1 หมื่นบาร์เรลบ/วันเริ่มในปี 54 และจะมีปริมาณการผลิตสูงสุด 4 แสน/วันในอนาคต ซึ่งบริษัทจะส่งน้ำมันไปขายในสหรัฐเป็นหลัก

สาเหตุที่ตัดสินใจจับมือกับ Statoil เพราะเคยเป็นพันธมิตรจุดเจาะสำรวจในอ่าวไทย ซึ่ง Statoil ถือหุ้นโดยรัฐบาลนอร์เวย์ 67% และมีการลงทุนทั่วโลก รวมทั้งมีแหล่งที่มีปริมาณการผลิตใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากซาอุดิอาราเบีย ส่วนจะชักชวน Statoil เข้ามาเป็นพันธมิตรในแหล่งอื่น ๆ รวมทั้งแหล่ง M9 หรือไม่นั้น นายประเสริฐ กล่าวว่า กำลังดูอยู่ แต่ ณ ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นแลกหุ้นกัน

นายประเสริฐ กล่าวว่า กลุ่ม ปตท.ยังอยู่ระหว่างการศึกษาการลงทุนในโครงการทวายของพม่า โดยมองว่าเป็นพื้นที่ที่มีความน่าสนใจลงทุนในธุรกิจต่าง ๆ เพราะมีขนาดใหญ่สามารถรองรับการขยายตัวภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่ไม่สามารถขยายได้แล้ว เช่น มาบตาพุด หรือเซาท์เทิร์นซีบอร์ดที่คาดว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นได้แล้ว

อย่างไรก็ตาม หากจะลงทุนในโรงกลั่นน้ำมัน คงจะต้องเป็นการลงทุนเพื่อส่งออกเท่านั้น เพราะกำลังการผลิตในประเทศมากเกินความต้องการ และต้องส่งออกอยู่แล้ว แต่หากจะทำเพื่อส่งออกก็จะต้องแข่งขันกับสิงคโปร์และอินเดียได้ รวมทั้งต้องใช้เงินลงทุนสูง จึงต้องดูเงื่อนไขและกฎระเบียบการลงทุนในพื้นที่ว่ามีความจูงใจอย่างไรบ้าง แต่ก็มองว่าการลงทุนในพื้นที่มีโอกาสส่งผลิตภัณฑ์มาขายในไทย พม่า และส่งออกไปที่อื่น ซึ่งอาจจะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านต่าง ๆ ตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนที่จะรวมเป็นตลาดเดียวด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ