THAI เสนอแผนหาเครื่องบินใหม่ 37 ลำปี 56-60เข้าครม.,เร่งปลดล็อกสภาพรสก.

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday November 24, 2010 13:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.การบินไทย(THAI)วางแผนลงทุนจัดหาเครื่องบินใหม่ต่อเนื่องในช่วงปี 56-60 เพิ่มอีกประมาณ 37 ลำจะทำให้ฝูงบินเพิ่มเป็น 105 ลำ จากปัจจุบันมี 84 ลำ ส่วนใหญ่เป็นการทดแทนเครื่องบินที่มีอายุมากที่ต้องปลดระวางไป เพื่อเพิ่ม capacity ขยายการเติบโตธุรกิจและการแข่งขันในอนาคต จากในช่วงปี 53-55 ที่จะมีเครื่องบินใหม่ทยอยเข้ามา 26 ลำ และทำให้ที่นั่ง/กม.เพิ่มขึ้น 7.2%/ปี

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ THAI เปิดเผยว่า บริษัทจะเสนอแผนจัดหาเครื่องบินใหม่ในช่วงปี 56-60 จำนวนประมาณ 37 ลำให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาในปลายช่วงเดือน ธ.ค.53 หรือเดือน ม.ค.54 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียด จึงยังสรุปวงเงินลงทุนไม่ได้

แต่อย่างไรก็ตาม การบินไทยไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุนสำหรับการลงทุนครั้งใหม่ เพราะฐานะการเงินของบริษัทจะดีขึ้นจากผลประกอบการ

"ปี 2013(ปี 56)เริ่มเห็นการเพิ่ม capacity ชัดเจน ถึงปี 2017(ปี 60)อาจมีจำนวนเครื่อง 105 ลำ ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นน้อยมากเมื่อเทียบกับการเติบโตของธุรกิจการบินที่การคาดการณ์" นายปิยสวัสดิ์ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

สำหรับเครื่องบินใหม่จะจัดหามาเพื่อทดแทนเครื่องบินเก่าที่ต้องปลดระวางไป 32 ลำ โดยจะใช้วิธีทั้งซื้อและเช่า ดังนั้นจะทำให้อายุเฉลี่ยของฝูงบินของบริษัทลลงมาเหลือ 8.5 ปี จากปัจจุบันมีอายุเฉลี่ย 11.6 ปี เทียบกับสายการบินสิงคโปร์และสายการบินคาเธ่ย์ที่มีอายุเครื่องบินเฉลี่ยประมาณ 6-7 ปี

ขณะที่ช่วงปี 53-55 จะมีเครื่องบินใหม่เข้ามา 26 ลำ ได้แก่ แอร์บัส A330 12 ลำ, โบอิ้ง B777-300ER 8 ลำ ซึ่งเป็นการเช่า และ แอร์บัส A380 จำนวน 6 ลำ ซึ่งจะรับมอบ 3 ลำแรกในปี 55 ส่วนอีก 3 ลำรับมอบในปี 56

นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงที่นั่งภายในเครื่องบิน สำหรับเครื่องบินโบอิ้ง B777 จำนวน 6 ลำ สำหรับ Economy class และ B777 จำนวน 7 ลำ เฉพาะ Economy class ซึ่งเริ่มทยอยเสร็จในไตรมาส 2/54

รวมทั้งจะเสนอคณะกรรมการบริษัทอนุมัติให้ปรับปรุงที่นั่งภายในเครื่องบินสำหรับโบอิ้ง B747 จำนวนอีก 6 ลำ ทั้ง 3 Class วงเงินประมาณ 5-6 พันล้านบาท โดยจะเสนอในเดือนธ.ค.นี้ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในช่วงปี 54-55 โดยเครื่องบินลำแรกจะปรับปรุงเสร็จในปลายปี 54

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า การเพิ่มเครื่องบินอีก 26 ลำจะทำให้ช่วง 3 ปีนี้มีจำนวนที่นั่ง/กม.เพิ่มขึ้น 7.2% ต่อปี จากการที่ Capacity เพิ่มขึ้นปีละ 5.3% ฉะนั้นคาดว่าในช่วง 3 ปีนี้ปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสารคิดเป็นที่นั่งเป็นกิโลเมตร(ASK)เป็น 8 หมื่นล้านที่นั่ง/กม./ปี และมีปริมาณขนส่งผู้โดยสารซึ่งคิดเป็นคนต่อกิโลเมตร(RPK)เท่ากับ 6 หมื่นล้านคน/กม./ปี

นอกจากนี้ ยังมีเครื่องบินเช่า 3 ลำจาก Jet Airways และเครื่องบินขนส่งสินค้า 2 ลำ โดยปีนี้มีค่าใช้จ่ายค่าเช่าประมาณ 2.5 พันล้านบาท และปีหน้าเต็มปีจะมีค่าเช่าราว 3.6 พันล้านบาท ส่วนปี 55 จะมีค่าเช่าโบอิ้ง B777-300ER 8 ลำอีกจำนวน 1.2 หมื่นล้านบาท

กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ THAI มองแนวโน้มธุรกิจการบินในปีหน้ามีการแข่งขันสูงมาก และเศรษฐกิจยุโรปและสหรัฐฯ อาจจะไม่ได้ดีมากอย่างที่คาดการณ์ไว้เดิม และการขนส่งสินค้าคงไม่ได้เพิ่มขึ้นมากเหมือนปีนี้ เพราะปีนี้ผลประกอบการเพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเศรษฐกิจฟื้นตัว และจากฐานที่ต่ำของปี 52 ที่ปรับลดลงไปมาก

นอกจากนั้น การส่งออกของทั่วโลกคาดว่าไม่มาก และเศรษฐกิจโลกคงไม่เติบโตได้มากเหมือนปีนี้ ขณะเดียวกันราคาน้ำมันเริ่มขยับตัวสูงขึ้นมา รวมทั้งการแข่งขันสูงมากทั้งระดับ premium และ low cost Airline โดยเฉพาะในอินเดียเติบโตเร็วมาก เพราะน่านฟ้าเปิดเสรีเกือบหมดแล้ว

*เตรียมออกหุ้นกู้ต้นปี 54,เร่งแก้เงื่อนไขเงินกู้เพื่อลดสัดส่วนหุ้น ก.คลัง

นายปิยสวัสดิ์ คาดว่า การบินไทยจะออกหุ้นกู้อายุประมาณ 7-8 ปีในช่วงต้นปี 54 ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยคงที่ ทำให้มีความสมดุลของเงินกู้ หลังจากที่บริษัทได้กู้เงิน 2.9 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ยลอยตัว อายุ 7-8 ปี ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวลดลงมาอยู่ที่ 3.5-3.6% เนื่องจากเงินต่างประเทศไหลเข้ามาในไทย จึงเป็นจังหวะดีที่จะออกหุ้นกู้ แต่ยังต้องทบทวนวงเงินอีกครั้ง จากที่บริษัทได้รับอนุมัติจากผู้ถือหุ้นทั้งหมด 4 หมื่นล้านบาท

"ถ้าเราออกหุ้นกู้ อายุ 7-8 ปี ผลตอบแทนก็ถือว่าไม่เลว ตอนนี้ก็เดินหน้าต่อไป ในการเตรียมการออกหุ้นกู้ ส่วนจะเป็นเงินจำนวนเท่าไร ต้องดูตัวเลขอีกทีหนึ่ง ตอนนี้ทำ Rating ใหม่ ตอนนี้อยู่ระหว่างให้ทริสเรทติ้งประเมิน คิดว่าจะได้ผลต้นเดือนธันวาคม เราคิดว่าจะทำได้ช่วงต้นปีหน้า เป็นจังหวะดีมาก Bond yield ลงมา 3.5-3.6% แทบจะไม่เคยเห็นลงมาขนาดนี้"นายปิยสวัสดิ์ กล่าว

นายปิยสวัสดิ์ เปิดเผยอีกว่า บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาแก้ไขเงื่อนไขเงินกู้ ในประเด็นที่กำหนดว่ากระทรวงการคลังต้องถือหุ้นใน THAI เกินสัดส่วน 50% เนื่องจากเมื่อครั้งที่มีการเพิ่มทุนจดทะเบียน ทางกระทรวงการคลังขอให้บริษัทดำเนินการดังกล่าว รวมถึงการลดค่าใช้จ่ายต่อไป ซึ่งบริษัทได้เสนอแผนลดค่าใช้จ่าย 2 หมื่นล้านบาทในช่วง 3 ปี(53-55)

"เงินกู้ต่างประเทศประมาณ 2 หมื่นล้านบาทจาก 3 รายที่ยังไม่ยอมแก้เงื่อนไข ซึ่งทางการบินไทยเจรจาแล้วแต่ยังไม่ได้ข้อยุติ ถ้าเจรจาไม่ได้ก็ต้องหาเงินกู้อื่นมาทดแทน เพราะฉะนั้นก็ไปโยงว่าเงินกู้ที่จะมาทดแทนอาจจะมาจากหุ้นกู้ หรือ Revolving Credit line ก็ได้ ซึ่งอาจจะเป็นการคืนหนี้บางส่วนแล้วจึงยอมแก้ไขเงื่อนไขหรืออาจจะคืนทั้งหมด"นายปิยสวัสดิ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในแง่ของบริษัท หากกระทรวงการคลังลดสัดส่วนหุ้นลงต่ำกว่า 50% ก็จะทำให้มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการเมื่อพ้นสภาพรัฐวิสาหกิจ เพราะการที่มีกฎระเบียบหยุมหยิมเข้ามากำกับดูแลทำให้การตัดสินใจการบริหารจะมีความยุ่งยากลำบากมากขึ้น ขณะที่ในแง่กระทรวงการคลัง ก็จะทำให้หนี้สาธารณะหายไปทันทีถึง 1.5 แสนล้านบาท และจะทำให้มีช่องที่จะสามารถกู้ได้เพิ่มเพื่อนำมาใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ซึ่งจะทำให้การบริหารการคลังคล่องตัวมากขึ้น

"ผมคิดว่าการบินไทยจะเป็นรัฐวิสาหกิจ เป็นไม่เป็น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าไม่มีกฎระเบียบที่ยุ่งยากซ้บซ้อนเหล่านี้ และยังเป็นรัฐวิสาหกิจ ผมก็ไม่ได้เดือดร้อน เวลาประชุมบอร์ดการบินไทยคุยเรื่องธุรกิจน้อยกว่ากฎระเบียบ...และหากไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ กฎระเบียบมากมายก็จะหายไปเช่นกัน"นายปิยสวัสดิ์

อย่างไรก็ดี บริษัทอยู่ระหว่างเร่งเจรจาเงินกู้ 2 หมื่นล้านบาท เพราะเงื่อนไขที่กระทรวงการคลังกำหนดมาตอนที่ใส่เงินเพิ่มทุน 7.6 พันล้านบาท ซึ่งเงินกู้คงไม่ใช้เวลาเท่าไร แต่การแก้ไขให้การบินไทยไม่เป็นรัฐวิสาหกิจต่อไป ยังไม่รู้กำหนดเวลา ขึ้นอยู่กับกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 51.03%

อนึ่ง เมื่อเดือน ก.ย.53 THAI เสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้ผู้ถือหุ้นเดิม โดยเสนอขายให้กระทรวงการคลัง 246,933,220 หุ้น, ขายให้ผู้ถือหุ้นเดิมรายอื่น ๆ จำนวน 221,831,075 หุ้น, เสนอขายต่อผู้จองซื้อรายย่อย 15,106,672 หุ้น ในราคาหุ้นละ 31 บาท

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า การบินไทยได้ทำการเพิ่มทุนทำพร้อมกับการหาเงินกู้ใหม่ทดแทนเงินกู้เดิมที่หมดอายุ และเพื่อใช้ลงทุนในอนาคต ซึ่งในการหาเงินกู้ระยะยาว 7-8 ปี จำนวน 2.9 หมื่นล้านบาท ได้อัตราดอกเบี้ยที่ดี แต่เป็นอัตราลอยตัว รวมทั้ง เงิน revolving credit line จำนวน 5.5 พันล้านบาท เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสภาพคล่องเหมือนที่เคยประสบปัญหาเหมือนช่วง 1-2 ปี ทำให้ฐานะการเงินของบริษัทแข็งแกร่งขึ้น อัตราหนี้สินต่อทุนลงมาที่ 1.7 เท่าจาก 3 เท่าในปีก่อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ