นายวัชระ กรรณิกา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันนี้มีมติอนุมัติตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)เสนอให้โรงกลั่นสตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง (SPRC) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และอนุมัติให้มีอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีการพิจารณาอย่างกว้างขวาง ในประเด็นการขอความเห็นชอบใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการกรณีที่จะเกิดข้อพิพาทในข้อสัญญาระหว่าง บมจ.ปตท.(PTT) และกลุ่มเชฟรอน ซึ่งทั้ง 2 บริษัทนี้เป็นผู้ถือหุ้นของ บ.สตาร์ฯ โดยครม.ได้สอบถามถึงความจำเป็นและเหตุผลของการใช้อนุญาโตตุลาการ
ทั้งนี้ได้รับคำชี้แจงจากกระทรวงพลังงานว่าสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาที่มีอยู่เดิมตั้งแต่เริ่มต้นการถือหุ้น อันถือเป็นสัญญาสากลดังนั้นจึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งการทำสัญญาในรูปแบบต่างๆ ที่ ปตท.ได้ทำมาก็ดำเนินการในลักษณะนี้มาตลอด
ขณะเดียวกัน รมว.ยุติธรรม ขอให้พิจารณาให้ชัดเจนว่าข้อสัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาระหว่างภาคธุรกิจต่อภาคธุรกิจ หรือเป็นสัญญาระหว่างภาคธุรกิจกับรัฐบาล ซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีการะบุว่า แม้ ปตท.จะเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่หากเกิดกรณีพิพาทเกิดขึ้น ครม.ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ แต่ในส่วนของกระทรวงการคลังนั้น กระทรวงการคลังจำเป็นต้องรับผิดชอบ
"เรามีความจำเป็นต้องผลักดันให้หุ้นของสตาร์ฯ เข้าตลาดหลักทรัพย์ เพราะสตาร์ฯ เป็นหนึ่งในเจ้าของโรงกลั่นน้ำมันที่ใหญ่สุดในประเทศ และมีเหตุผลที่จำเป็นต้องรักษาความมั่นคงด้านพลังงานไว้ ซึ่งที่สุดแล้ว ครม.มีมติเห็นชอบต่อข้อเสนอของ กพช. 2 ประเด็น คือ อนุญาตให้เข้าตลาดหลักทรัพย์ และอนุญาตให้มีอนุญาโตฯต่างประเทศ" นายวัชระ กล่าว
ทั้งนี้ หลังจากการกระจายหุ้น 30% ให้ผู้ถือหุ้นรายย่อย จะทำให้สัดส่วนผู้ถือหุ้นของโรงกลั่นสตาร์ฯ เปลี่ยนเป็น เชฟรอน (Chevron) ถือหุ้นลดลงเหลือ 45% จากเดิม 64% และบมจ.ปตท. (PTT) ถือหุ้นลดลงเหลือ 25% จากเดิม 36%