ก.ล.ต.มอง Infrastructure fund ช่วยปรับเงินไหลเข้าระยะสั้นเป็นระยะยาว

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 30, 2010 15:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวให้สัมภาษณ์กับรายการ “Squawk Box Asia" ทางสถานี CNBC ที่ประเทศสิงคโปร์ เกี่ยวกับแนวคิดในการพัฒนากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure fund) ว่า การจัดตั้งกองทุนรวมประเภทนี้จะช่วยชะลอความร้อนแรงของเงินทุนระยะสั้นจากต่างประเทศที่ไหลเข้ามาลงทุนในประเทศ โดยทำให้เงินทุนระยะสั้นเปลี่ยนเป็นเงินลงทุนระยะยาวที่นำมาใช้ในการพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของประเทศไทย ซึ่งจะช่วยลดภาระเงินลงทุนของภาครัฐ และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว

กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานน่าจะได้รับความสนใจทั้งจากนักลงทุนไทยและนักลงทุนจากประเทศในภูมิภาคเอเชีย เนื่องจาก ก.ล.ต.อนุญาตให้กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานสามารถลงทุนในโครงการที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว (brownfield project) และโครงการที่ยังไม่เริ่มก่อสร้าง หรืออยู่ระหว่างก่อสร้าง หรือก่อสร้างเสร็จแล้วแต่ยังไม่เริ่มมีรายได้เชิงพาณิชย์ (greenfield project) อีกด้วย และอาจได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างประเทศบางรายที่ต้องการลดการถือครองสินทรัพย์สกุลดอลลาร์สหรัฐฯ และหันมาลงทุนในประเทศเกิดใหม่มากยิ่งขึ้นหากผลตอบแทนน่าสนใจเพียงพอ

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้อนุมัติหลักเกณฑ์การจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ และมีแผนที่จะสนับสนุนให้กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเติบโตอย่างต่อเนื่อง เป็นที่ยอมรับและน่าเชื่อถือ มีการกำกับดูแลตามหลักเกณฑ์อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส น่าเชื่อถือ และสามารถคุ้มครองนักลงทุนได้ ซึ่งในระยะต่อไปขึ้นอยู่ว่าภาคเอกชนจะมีความสนใจในการจัดตั้งกองทุนรวมดังกล่าวเมื่อใด โดยคาดว่าเม็ดเงินลงทุนในกองทุนรวมดังกล่าวจะมาจากทั้งภาครัฐและเอกชน

ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศต่าง ๆ ในตลาดเกิดใหม่ได้รับผลกระทบจากเงินทุนต่างประเทศที่ไหลเข้ามาเป็นจำนวนมากและมีความผันผวน เคลื่อนย้ายรวดเร็ว สำหรับประเทศไทยมีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ของไทยสูงถึง 10 เท่าเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยคาดว่าจะมีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่นักลงทุนต่างประเทศมีความไม่มั่นใจต่อการแก้ไขปัญหาหนี้เสียในระบบธนาคารพาณิชย์และความสามารถในการชำระหนี้ของกลุ่มประเทศยุโรป โดยขนาดของเงินทุนไหลเข้าขึ้นอยู่กับคาดการณ์ของตลาดต่อการดำเนินนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยในการออกมาตรการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายหรือไม่ อย่างไร

“การปรับพอร์ตของนักลงทุนต่างประเทศแม้เพียงเล็กน้อยก็สามารถสร้างความผันผวนให้เกิดขึ้นได้ สิ่งที่ดีที่สุด คือพยายามเปลี่ยนเงินทุนระยะสั้นให้กลายเป็นเงินลงทุนระยะยาว จึงจะถือว่าเป็น win-win situation โดยตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งประเทศไทยสามารถดำเนินการได้ ซึ่งถือว่าเป็นทางออกที่ช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าวได้ทางหนึ่ง" นายธีระชัย กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ