(เพิ่มเติม) CK-LOXLEY-ITD ร่วมฟังข้อมูลรถไฟความเร็วสูง,เอกชนขานรับรูปแบบ PPP

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday December 2, 2010 17:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ช.การช่าง(CK) , บมจ.ล็อกซ์เล่ย์(LOXLEY) และบมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์(ITD)ส่งตัวแทนร่วมรับฟังข้อมูลในงานทดสอบความสนใจภาคเอกชนในการลงทุน(Market Sounding)โครงการรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทางแรก กรุงเทพ-เชียงใหม่ และ กรุงเทพ-ระยองที่รัฐบาลจัดขึ้นในวันนี้ ร่วมกับบริษัทผู้รับเหมารวมทั้งหมด 55 แห่ง บริษัทที่ปรึกษาการก่อสร้าง 18 แห่ง และ ธนาคารในและต่างประเทศ 15 แห่ง รวมทั้งตัวแทนจากสถานทูต 9 แห่ง ซึ่งมีตัวแทนจากสถานทูตจีนเข้ามาร่วมด้วย

"คิดว่าเอกชนสนใจเข้าร่วมลงทุนทั้งจากในและต่างประเทศ จากเท่าที่ดูการประชุมวันนี้ คงต้องมีนวัตกรรมการเงินเข้ามาช่วย เช่น Infrastructures Fund , Securitization เท่าที่ฟังเอกชนเขาจะหาลู่ทางคุยแบบ private อีก"นายสมชัย สัจจพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าว

โครงการรถไฟความเร็วสูง 2 สายทาง คือกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 754 กม. ผ่าน 11 จังหวัด 13 สถานี ใช้เวลาเดินทางเพียง 3.5 ชม. ค่าโดยสาร 1,200 บาท รองรับผู้โดยสารได้ 34,800 คน-เที่ยว/วัน เงินลงทุน 229,809 ล้านบาท ค่า EIRR : 13.58% ส่วนสายสายตะวันออก กรุงเทพฯ-ระยอง ระยะทาง 221 กม. ผ่าน 4 จังหวัด 5 สถานี ใช้เวลาเดินทางเพียง 1 ชม. ค่าโดยสาร 350 บาท รองรับผู้โดยสารได้ 13,200 คน-เที่ยว/วัน จำนวนเงินลงทุน 72,265 ล้านบาท และค่า EIRR : 13.05% โดยคาดว่าทั้งสองสายจะเริ่มก่อสร้างได้ปลายปี 54 หรือต้นปี 55

ผู้เข้าร่วมงานราว 500 คนส่วนใหญ่ได้แสดงความคิดเห็นให้เปิดกว้างในการลงทุนให้มีรูปแบบที่หลากหลาย นอกจากนี้ยังให้ความสนใจเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พรบ. ร่วมทุน) ว่าอาจจะเป็นอุปสรรคในการลงทุนในรูปแบบ PPPs ของโครงการนี้

อย่างไรก็ตาม ทางผู้แทนจากภาครัฐได้ชี้แจงว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุง พรบ. ดังกล่าว โดยยึดหลักของความโปร่งใสและตรวจสอบได้ และในกฎหมายใหม่จะมีขั้นตอนที่ชัดเจนและกรอบระยะเวลาในขั้นตอนต่างๆ ที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถดำเนินการโครงการที่จำเป็นอย่างทันท่วงที

ทั้งนี้จากการงานทดสอบความสนใจภาคเอกชนฯในวันนี้ ต่างให้ความกังวลเรื่องการบริหารความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน อัตราเงินเฟ้อ รวมถึงจุดคุ้มทุนของแต่ละโครงการ

นายสมชัย กล่าวว่า เรื่องการบริหารความเสี่ยงดังกล่าว คงต้องได้รูปแบบการลงทุนที่ชัดเจนก่อนว่ามีเอกชนเข้าร่วมจำนวนเท่าไรและอย่างไร ก็จะมีการพิจารณาว่าใครจะเป็นผู้รับผิดชอบความเสี่ยง โดยรัฐอาจจะเป็นผู้รับบริหารความเสี่ยงเองก็ได้เพื่อลดต้นทุนของเอกชน

ขณะที่นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการ สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ เสนอแนะให้รัฐบาลลดหย่อนภาษีผู้ที่ซื้อกองทุนโครงสร้งพื้นฐาน(Infrastructures Fund)หรือให้เงื่อนไขรับซื้อคืน โดยมีผลตอบแทนเพิ่มบ้าง เพื่อจูงใจให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสลงทุน หรือรัฐบาลเปิดกว้างการระดมทุน

ทั้งนี้ นายสมชัย กล่าวว่า พยายามผลักดันให้กองทุนโครงสร้างพื้นฐานเกิดขึ้นและจะหารือกับกรมสรรพากร

นายสมบัติ ยังกล่าวว่า การลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง คาดว่าจะมีเอกชนเข้าร่วมลงทุนมากโดยเฉพาะเส้นทางกรุงเทพ- เชียงใหม่ ทั้งนี้ จะส่งผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ และส่งผลดีต่อเนื่องไปตลาดทุนด้วย ซึ่งจากการสำรวจความคิดเห็นของนักวิเคราะห์ ต้องการให้ภาครัฐผลักดันการลงทุนขนาดใหญ่

ภาครัฐได้เสนอรูปแบบการลงทุนของภาครัฐร่วมกับเอกชน 4 แนวทาง ได้แก่ กรณีรัฐบาลลงทุนทั้งหมด ซึ่งแนวทางนี้ผลตอบแทนติดลบ, กรณีที่เอกชนลงทุนเฉพาะชบวนรถ และรับผิดชอบการเดินรถและซ่อมบำรุงรถ โดยรัฐลงทุนงานเวนคืน งานก่อสร้างทางรถไฟ งานวางราง งานระบบอาณัติสัญญาณ ระบบสื่อสาร รวมทั้งระบบไฟฟ้ากำลัง โดยแนวทางนี้ได้ผลตอบแทน (FIRR)35.65% สำหรับเส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ และ 34.58% สำหรับเส้นทางกรุงเทพ-ระยอง โดยแนวทางนี้ให้ผลตอบแทน มากที่สุด

แนวทางที่ 3 เป็นกรณีเอกชนลงทุนประมาณร้อยละ 50 โดยมีสมมติฐานว่ารัฐเป็นผู้ลงทุนค่าออกแบบและเวนคืนจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยสิ่งปลูกสร้าง เอกชนลงทุนขบวนรถไฟ และรับผิดชอบเดินรถ และค่าบำรุงรักษาในช่วงเปิดให้บริการเดินรถ ส่วนงานก่อสร้างและควบคุมงานรัฐลงทุนร้อยละ 50 และเอกชนลงทุนร้อยละ 50

และกรณีเอกชนลงทุนร้อยละ 30 โดยมีสมมติฐานว่ารัฐเป็นผู้ลงทุนค่าออกแบบและเวนคืนจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและชดเชยสิ่งปลูกสร้าง เอกชนลงทุนขบวนรถไฟและรับผิดชอบงานเดินรถและค่าบำรุงรักษาในช่วงเปิดให้บริการเดินรถ ส่วนงานก่อสร้าง และควบคุมรัฐลงทุนร้อยละ 70 และเอกชนลงทุนร้อยละ 30


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ