ฟิทช์ คงอันดับเครดิตธนาคารทิสโก้-TISCO แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday December 3, 2010 13:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term Rating) ของธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ TISCOB ที่ ‘A(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของบมจ. ทิสโก้ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (TISCO) ที่ ‘A-(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

นอกจากนี้ฟิทช์ได้ประกาศคงอันดับเครดิตอื่นๆ ของทั้งสองบริษัท

ฟิทช์คงอันดับเครดิตของ TISCOB ดังต่อไปนี้ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว ที่ ‘A(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ, อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น ที่ ‘F1(tha)’, อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกัน ที่ ‘A(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกัน ที่ ‘A-(tha)’

ฟิทช์คงอันดับเครดิตของ TISCO ดังต่อไปนี้ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว ที่ ‘A-(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ, อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น ที่ ‘F2(tha)’

อันดับเครดิตของ TISCOB พิจารณาถึงความสามารถในการทำกำไรและคุณภาพสินทรัพย์ที่แข็งแกร่งของธนาคาร รวมทั้งการคาดหมายว่าธนาคารจะสามารถรักษาระดับเงินกองทุนปัจจุบันไว้ได้อย่างต่อเนื่อง อันดับเครดิตของธนาคารถูกจำกัดโดยความสามารถในการระดมเงินทุนและสภาพคล่องของธนาคารยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า เมื่อเทียบกับธนาคารขนาดใหญ่ ในขณะที่อันดับเครดิตของ TISCO สะท้อนถึงสถานะการเป็นบริษัทโฮลดิ้งส์ของบริษัท ซึ่งมีโครงสร้างในการดำเนินธุรกิจและโครงสร้างทางการเงินในลักษณะที่ต้องพึ่งพารายได้จาก TISCOB ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่ประกอบกิจการธนาคาร เนื่องจาก TISCO ต้องพึ่งพาการจ่ายเงินปันผลจาก TISCOB

แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพของ TISCOB สะท้อนถึงความคาดหมายว่าธนาคารจะสามารถรักษาผลการดำเนินงานโดยรวมให้แข็งแกร่งได้อย่างต่อเนื่อง สำหรับแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพของ TISCO นั้น สะท้อนถึงความคาดหมายว่า TISCO และทั้งกลุ่มบริษัทจะสามารถรักษาระดับของหนี้สินและสภาพคล่องไว้ได้ ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในด้านของนโยบายการลงทุน ระดับหนี้สิน และกลยุทธ์ในด้านธุรกิจ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตของ TISCOB อาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัทโฮลดิ้งส์

สำหรับในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2553 TISCOB มีกำไรสุทธิเติบโตเพิ่มขึ้น 50% เป็น 1.1 พันล้านบาท ในขณะเดียวกันส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 5% (เทียบกับ 4.5% ในปี 2552) ทั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นผลเนื่องจากการเติบโตของสินเชื่อในระดับสูง (13% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน) และต้นทุนทางการเงินที่ลดลง

ฟิทช์คาดว่าผลการดำเนินงานของ TISCOB ในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 จะยังคงแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตามภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้นและการปรับตัวเพิ่มขึ้นของต้นทุนทางการเงิน อาจส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรของธนาคารปรับตัวลดลงในระยะปานกลาง คุณภาพสินทรัพย์ของ TISCOB ยังคงแข็งแกร่ง โดยสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ยังคงลดลงเป็น 2.3 พันล้านบาท หรือ 1.9% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 เทียบกับ 2.5 พันล้านบาท หรือ 2.3% ณ สิ้นปี 2552 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำสุดในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย

ความสามารถในการระดมเงินทุนและสภาพคล่องของ TISCOB ยังคงมีเสถียรภาพ แต่ยังคงมีการพึ่งพาเงินฝากจากลูกค้าผู้ฝากเงินรายใหญ่เป็นหลัก (เงินฝากเกินกว่า 10 ล้านบาท) ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 72% ของฐานเงินฝากของธนาคาร (รวมตั๋วแลกเงิน หรือ B/E) ซึ่งอาจส่งผลให้ธนาคารมีความเสี่ยงมากขึ้นในช่วงที่ระบบการเงินประสบปัญหา ในส่วนของระดับของสภาพคล่องก็มีการปรับตัวอ่อนแอลงเช่นกัน โดยธนาคารมีอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อเงินฝากและหนี้สินระยะสั้นลดลงเป็น 11% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 (เทียบกับ 14% ณ สิ้นปี 2552) และอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่ที่ประมาณ 25% เงินกองทุนชั้นที่ 1 และเงินกองทุนรวมของธนาคารยังคงอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 13.5% และ 16.6% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 แม้ว่าอัตราส่วนส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมของธนาคารได้ปรับตัวลดลงอย่างมากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา แต่ยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งที่ประมาณ 9% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 ฟิทช์คาดหมายว่าธนาคารควรจะรักษาเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่สูงกว่าธนาคารพาณิชย์ไทยอื่น เนื่องจากธนาคารมีการกระจุกตัวของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และความเสี่ยงที่สูงกว่าในด้านความสามารถในการรองรับผลกระทบจากความผันผวนอย่างรุนแรงของระบบการเงินในฐานะที่เป็นธนาคารขนาดเล็ก ทั้งนี้หากอัตราส่วนส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของธนาคาร

บริษัทโฮลดิ้งส์ หรือ TISCO มีกำไรสุทธิลดลง (งบการเงินฉพาะของบริษัท) มาอยู่ที่ระดับ 196 ล้านบาท ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 (เทียบกับ 1.7 พันล้านบาท ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552) โดยส่วนใหญ่เนื่องมาจากการที่บริษัทไม่มีรายได้เงินปันผลระหว่างกาลจาก TISCOB TISCO มียอดหนี้สินอยู่ที่ 3.4 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553 ซึ่งประกอบด้วยตั๋วแลกเงินระยะสั้น

TISCO มีส่วนต่างระหว่างอายุของสินทรัพย์และหนี้สินที่สูง และมีการถือครองสินทรัพย์สภาพคล่องในระดับต่ำ อย่างไรก็ตามปัจจัยที่ช่วยลดความเสี่ยงด้านสภาพคล่องให้กับบริษัท ได้แก่วงเงินสินเชื่อจำนวน 3.8 พันล้านบาทจาก TISCOB และอัตราการต่ออายุของเงินกู้ยืมระยะสั้นเมื่อครบกำหนด (rollover rate) ที่โดยมากจะอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ TISCOB จะยังคงเป็นผู้ให้การสนับสนุนหลักด้านสภาพคล่องแก่บริษัทโฮลดิ้งส์ ระดับหนี้สินของ TISCO ในปัจจุบันนั้นยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ประมาณ 0.3 เท่า และอัตราส่วนเงินลงทุนในบริษัทลูกต่อทุน (double leverage ratio) อยู่ในที่ไม่สูงมากนักที่ 109% TISCO และ TISCOB มีนโยบายการจ่ายเงินปันผลในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 50% ของกำไรสุทธิ ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับการจ่ายเงินปันผลในปี 2551 และ 2552

TISCO เป็นบริษัทโฮลดิ้งส์ของ TISCOB บริษัทจัดตั้งขึ้นในปี 2551 ทั้งนี้บริษัทถือหุ้น 99.5% ใน TISCOB และถือหุ้น 100% ในบริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนและบริษัทเช่าซื้อของกลุ่ม TISCOB ก่อตั้งในปี 2512 โดยมีฐานะเป็นบริษัทเงินทุน และได้เปลี่ยนสถานะเป็นธนาคารพาณิชย์ในเดือนกรกฎาคม 2548 TISCOB เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการหลักในธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ