ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร STA ที่ระดับ “BBB+" แนวโน้ม Positive

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday December 9, 2010 08:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศผลการทบทวนอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA) ที่ระดับ “BBB+" ด้วยแนวโน้ม “Positive" หรือ “บวก"

อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทในธุรกิจยางธรรมชาติ ตลอดจนการมีฐานลูกค้าที่กระจายตัว กลยุทธ์ลดความเสี่ยงด้านราคาบางส่วนโดยการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Hedging) และกำหนดเงื่อนไขการซื้อขายสินค้าในจำนวนและระยะเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน (Back-to-Back) ความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจยางธรรมชาติ และคณะผู้บริหารที่มีความสามารถ

ทว่าความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความผันผวนของราคายางธรรมชาติและสภาวะตลาดที่มีการแข่งขันสูง นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงภาระหนี้ของบริษัทที่อยู่ในระดับสูงที่แม้จะบรรเทาลงไปบางส่วนจากการมีสินค้าคงคลังที่มีสภาพคล่องและอยู่ในความต้องการของตลาดก็ตาม

แนวโน้มอันดับเครดิต “Positive" หรือ “บวก" สะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งและการที่บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดในตลาดโลกที่สูงขึ้น โดยผลประกอบการของบริษัทได้รับประโยชน์จากราคายางธรรมชาติที่ปรับตัวสูงขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากอุปสงค์ที่เพิ่มสูงขึ้นและอุปทานที่ต่ำกว่าอุปสงค์ในช่วงปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ อันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทสามารถรักษากำไรและเงินทุนจากการดำเนินงานให้อยู่ในระดับที่สูงเพื่อรองรับความผันผวนของราคายางธรรมชาติ โดยที่โครงสร้างเงินทุนที่แข็งแกร่งขึ้นจะเป็นปัจจัยบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัท

STA ดำเนินธุรกิจแปรรูปและจำหน่ายยางธรรมชาติโดยมีโรงงานแปรรูป 18 แห่งอยู่ในพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศและอีก 2 แห่งอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย โดยมีกำลังการผลิตทั้งสิ้น 802,964 ตันต่อปี และมีส่วนแบ่งทางการตลาดในตลาดโลกสำหรับช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 อยู่ที่ประมาณ 8.39% ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 8.20% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปริมาณการขายจำนวน 420,766 ตัน ด้วยประสบการณ์ที่ยาวนานรวมทั้งการมีข้อมูลข่าวสารที่รอบด้านทั้งในส่วนของอุปสงค์และอุปทานยางธรรมชาติทำให้ผู้บริหารรสามารถบริหารกิจการของบริษัทได้เป็นอย่างดีตลอดวงจรธุรกิจทั้งในช่วงขาขึ้นและขาลงโดยยังคงรักษาสถานะทางการตลาดเอาไว้ได้

บริษัทจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประมาณ 71% ให้แก่ผู้ประกอบการผลิตยางล้อซึ่ง 9 รายอยู่ในกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ 10 รายของบริษัท แม้ว่ายอดขายของบริษัทจะกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมเพียงประเภทเดียว แต่บริษัทก็มีฐานลูกค้าที่ค่อนข้างหลากหลายและกระจายตัวอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก

นอกจากนี้ บริษัทยังขยายฐานลูกค้าไปสู่ผู้ผลิตยางล้อขนาดกลางและขนาดเล็กด้วย บริษัทมียอดส่งออกคิดเป็น 81% ของยอดขายในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 โดยประมาณ 82% ของการส่งออกเป็นการจำหน่ายสินค้าให้แก่ลูกค้าในประเทศแถบเอเซียซึ่งลูกค้าหลักคือประเทศจีน สิงคโปร์ อินเดีย และเกาหลี อีกประมาณ 11% เป็นลูกค้าในประเทศสหรัฐอเมริกา และ 7% เป็นลูกค้าในแถบยุโรป

ปัจจุบันผู้ผลิตยางธรรมชาติรายใหญ่ของโลกประกอบด้วยประเทศไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ผลผลิตโดยรวมจากทั้ง 3 ประเทศคิดเป็น 67% ของผลผลิตทั่วโลกที่มีปริมาณ 9.7 ล้านตันในปี 2552 โดยประเทศไทยเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด ด้วยผลผลิตรวมทั้งสิ้น 3.16 ล้านตัน รองลงมาได้แก่ประเทศอินโดนีเซีย (2.44 ล้านตัน) และประเทศมาเลเซีย (0.86 ล้านตัน)

ยางธรรมชาติเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท เช่น ยางล้อสำหรับยานพาหนะ ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย และรองเท้า การบริโภคยางธรรมชาติทั่วโลกมีการเติบโตที่สม่ำเสมอมาโดยตลอดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ในปี 2552 การบริโภคยางธรรมชาติลดลงมาอยู่ที่ 9.4 ล้านตัน เทียบกับ 10.2 ล้านตันในปี 2551 โดยปริมาณความต้องการลดลงอย่างมากในไตรมาสที่ 4 ของปี 2551 จากผลของภาวะทรุดตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ซึ่งเกิดจากภาวะสินเชื่อที่ตึงตัวและเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

ทั้งนี้ ยอดขายรถยนต์ที่ลดลงอย่างมากมีผลกระทบต่ออุปสงค์ยางล้อเนื่องจากผู้ผลิตยางล้อเป็นกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรมยางธรรมชาติโดยมีปริมาณการใช้คิดเป็นประมาณ 70% ของการผลิตยางทั่วโลก มีการคาดการณ์ว่าในระยะปานกลางอุปสงค์ของยางธรรมชาติจะยังคงเติบโตจากการขยายตัวของยอดขายรถยนต์ในตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่โดยเฉพาะในประเทศจีนและอินเดีย และภาวะเศรษฐกิจที่ค่อย ๆ ฟื้นตัวในประเทศพัฒนาแล้ว

อุตสาหกรรมยางแปรรูปเป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานสูงและมีต้นทุนวัตถุดิบคิดเป็นประมาณถึง 90%-95% ของต้นทุนการแปรรูป ผู้ประกอบการมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคายางธรรมชาติเป็นอย่างมากซึ่งส่งผลทำให้กำไรและกระแสเงินสดมีแนวโน้มแปรปรวน เพื่อที่จะลดความเสี่ยงดังกล่าว บริษัทจึงปรับเปลี่ยนนโยบายทางการตลาดโดยใช้กลยุทธ์การซื้อขายแบบ Back-to-Back และพยายามซื้อขายโดยตรงกับผู้ผลิตสินค้าและเกษตรกร กระนั้นก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงด้านราคาในช่วงที่ราคายางมีความผันผวนในระดับสูงไปได้

STA รายงานผลการดำเนินงานที่น่าพอใจในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 โดยมีรายได้และกำไรสูงสุดเป็นประวัติการณ์ซึ่งเป็นผลมาจากราคายางธรรมชาติและยอดส่งมอบที่สูงขึ้น โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 ราคายางตามมาตรฐานของไทย หรือ STR20 (Standard Thai Rubber 20) โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 102.58 บาท/กิโลกรัม เพิ่มขึ้น 61% จากปี 2552

ทั้งนี้ ราคาที่ปรับตัวขึ้นเป็นผลมาจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นและความหวั่นเกรงว่าอุปทานยางธรรมชาติจะลดลงจากสภาวะอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย รวมทั้งจากการแข็งค่าของสกุลเงินของประเทศผู้ส่งออกยางธรรมชาติเมื่อเทียบกับดอลล่าร์สหรัฐ ในด้านการจำหน่ายนั้น ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 บริษัทมียอดขายทั้งสิ้น 633,321 ตัน เพิ่มขึ้น 98,494 ตันจากช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งเป็นผลมาจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากสหรัฐอเมริกา ยุโรป และอุปสงค์ภายในประเทศเป็นสำคัญ

อัตรากำไรขั้นต้นก่อนค่าเสื่อมราคาอยู่ที่ 4.3% เพิ่มขึ้นจาก 2% ในปี 2552 ผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง และเงินปันผลที่สูงขึ้นจากบริษัทร่วมทำให้เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 3,161 ล้านบาท เกือบ 3 เท่าของระดับในปี 2552 อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 14.27 เท่าเมื่อเทียบกับ 6.05 เท่าในช่วงเดียวกันของปีก่อน

ณ เดือนกันยายน 2553 ภาระหนี้รวมของบริษัทอยู่ที่ 14,859 ล้านบาท เพิ่มจาก 10,676 ล้านบาท ณ เดือนกันยายน 2552 ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณขายและราคายางที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยบริษัทใช้เงินกู้ส่วนใหญ่ไปในการซื้อสินค้าคงคลัง ถึงแม้บริษัทจะมีภาระหนี้สูงขึ้น แต่อัตราส่วนทางการเงินก็ปรับตัวดีขึ้น โดยอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 21.27% เทียบกับ -0.21% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน

ทั้งนี้ คาดว่าในระยะปานกลางภาระหนี้ของบริษัทจะปรับเพิ่มขึ้นจากการที่บริษัทมีแผนจะขยายกำลังการผลิตยางแท่งและเพิ่มปริมาณขาย อย่างไรก็ตาม ภาระหนี้ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นนั้นอาจไม่สูงมากนักเนื่องจากบริษัทจะมีเงินเข้ามาจากการเพิ่มทุนโดยบริษัทมีแผนการขายหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 280 ล้านหุ้นและนำหุ้นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ภายในไตรมาสแรกของปี 2554


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ