นายวสันต์ เทียนหอม ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ( ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต. ได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุญาตให้เสนอขายหุ้นเพื่อรองรับนโยบายการกำกับดูแลการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ไปสู่แนวทางสากลที่มุ่งเน้นความเพียงพอและคุณภาพการเปิดเผยข้อมูล และการส่งเสริมบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ
ทั้งนี้ ให้ความสำคัญต่อการเปิดเผยข้อมูลอย่างเพียงพอต่อผู้ลงทุน รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้ลงทุนเป็นผู้พิจารณาข้อมูลและตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง ดังนั้นผู้ลงทุนจะมีทางเลือกในการลงทุนที่หลากหลายและสอดคล้องกับความต้องการลงทุนภายใต้ความเสี่ยงที่ตนเองยอมรับได้
นอกจากนี้การปรับปรุงดังกล่าวจะเอื้อต่อการพัฒนาตลาดทุนไทยให้พร้อมรองรับการเชื่อมโยงกับตลาดทุนในต่างประเทศ รวมทั้งจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ภาคธุรกิจสามารถระดมทุนผ่านช่องทางตลาดทุนได้คล่องตัวขึ้น ทั้งนี้หลักเกณฑ์ดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2554
ซึ่งในการปรับปรุงหลักเกณฑ์การอนุญาตให้เสนอขายหุ้นตามแนวนโยบายในครั้งนี้ ก.ล.ต.จะยังคงกำหนดให้บริษัทผู้ออกหุ้นต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่จะไม่กำหนดคุณสมบัติในเรื่องการดำเนินธุรกิจและการปฏิบัติตามกฎหมายอื่น ได้แก่ การประกอบธุรกิจหลักเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม การไม่มีเหตุสงสัยว่าบริษัทจะไม่สามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว และการประกอบธุรกิจไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเกินกว่าขอบเขตที่กฎหมายกำหนดอย่างมีนัยสำคัญ โดยจะเน้นให้บริษัทผู้ออกหุ้นต้องเปิดเผยข้อมูลในเรื่องดังกล่าวอย่างเพียงพอ เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถใช้ดุลพินิจในการพิจารณาข้อมูลเพื่อตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง
"เกณฑ์ใหม่นี้จะช่วยให้บริษัทที่จะเตรียมเสนอขายหุ้นกับประชาชนมีทางเลือกในการระดมทุนผ่านช่องทางตลาดทุนมากขึ้น โดยเป็นการเปิดโอกาสให้กับธุรกิจที่น่าสนับสนุนเช่น พลังงานทดแทน, ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ธุรกิจอาหาร สามารถระดมทุนได้ง่ายขึ้น"นายวสันต์ กล่าว
ทั้งนี้ ก.ล.ต.จะยังคงพิจารณาคุณสมบัติในเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทผู้ออกหุ้น (good corporate governance) ได้แก่ (1) การรักษาสิทธิของผู้ถือหุ้นและปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเป็นธรรม (2) คุณสมบัติ หน้าที่และความรับผิดชอบของกรรมการ ผู้บริหารและผู้มีอำนาจควบคุม โครงสร้างคณะกรรมการบริษัทและการจัดการมีการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างเพียงพอ และ (3) การมีระบบที่เพียงพอที่จะทำให้บริษัทผู้ออกหุ้นสามารถจัดทำและเปิดเผยข้อมูลได้อย่างต่อเนื่องและน่าเชื่อถือ เนื่องจากหลักเกณฑ์ข้างต้นเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน ซึ่งผู้ลงทุนอาจไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลหรือไม่สามารถพิจารณาหรือวิเคราะห์ประเด็นต่างๆ จากข้อมูลที่เปิดเผยได้ด้วยตนเอง
ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในการเตรียมความพร้อมผู้เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการปรับปรุงหลักเกณฑ์ข้างต้น และในระยะต่อไปนี้ ก.ล.ต. จะดำเนินการให้ผู้เกี่ยวข้อง กล่าวคือ บริษัทที่ออกหลักทรัพย์และที่ปรึกษาทางการเงินให้เปิดเผยข้อมูลที่มีคุณภาพและเพียงพอต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุน ส่วนบริษัทหลักทรัพย์และผู้ติดต่อผู้ลงทุนจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับหลักทรัพย์ที่เสนอขาย รู้จักลูกค้าและเสนอขายหลักทรัพย์ให้เหมาะสมกับลักษณะความเสี่ยงของลูกค้า โดย ก.ล.ต. จะดำเนินการควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความรู้เพื่อสร้างศักยภาพในการลงทุนของผู้ลงทุน รวมถึงส่งเสริมให้ผู้ลงทุนตระหนักถึงความสำคัญของข้อมูลและศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน