นายสุวิทย์ มโนมัยยานนท์ กรรมการและรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโสฝ่ายขาย บมจ.โตโย-ไทย คอร์ปอเรชั่น (TTCL)เปิดเผยว่า การเข้ามาเป็นพันธมิตรของ บมจ. ชิโยดะ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นกลุ่มผู้รับเหมาใหญ่อันดับ 2 ในประเทศญี่ปุ่น และเป็น 1 ใน 50 สุดยอดบริษัทของเอเชีย จะเป็นประโยชน์ต่อการขยายธุรกิจของ TTCL อย่างมีนัยสำคัญ
เนื่องจาก TTCL จะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมขั้นสูงจากกลุ่มชิโยดะ และช่วยเพิ่มศักยภาพในการขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดงานก่อสร้างขนาดใหญ่ระดับโลก มูลค่าโครงการละกว่า 15,000 ล้านบาทโดยตรงได้ โดยไม่ต้องจัดตั้งกิจการร่วมค้ากับบริษัทฯระดับโลกอื่นๆ
สำหรับกลุ่มชิโยดะ เป็นบริษัทวิศวกรรมระดับโลกที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของญี่ปุ่น มีทุนจดทะเบียน 43,396 ล้านเยน หรือ 15,735 ล้านบาท และมีความเชี่ยวชาญงานวิศวกรรมและรับเหมางานก่อสร้างระดับสูง ที่ใช้เทคโนโลยีทางวิศวกรรมระดับสูง อาทิ งานสร้างโรงแยกแก๊ส LNG , โรงกลั่นน้ำมัน, โรงไฟฟ้า, โรงงานซินเทติกแก๊ส และ โรงงานปิโตรเคมีขั้นต้น (Upstream)
ปัจจุบัน ชิโยดะ คอร์ปอเรชั่น รับงานวิศวกรรมรับเหมาครบวงจรขนาดใหญ่ทั่วโลก ล่าสุดมีรายได้รวมงวด 6 เดือนแรกปีนี้ถึง 112,000 ล้านเยน หรือประมาณ 40,610 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิถึง 2,886 ล้านเยน หรือประมาณ 1,047 ล้านบาท เป็นงานในต่างประเทศถึง 50% ของรายได้ทั้งหมด โดยเฉพาะงานสร้างโรงแยกแก๊ส และโรงกลั่นน้ำมันในตะวันออกกลาง ตรงกับนโยบายของ TTCL ที่มุ่งเน้นขยายงานต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น และตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนงานต่างประเทศ จากปัจจุบัน 10% เป็น 50% ได้ภายใน 5 ปี เนื่องจากงานในต่างประเทศมีอัตรากำไรสุทธิสูงกว่าและคาดว่าการร่วมมือกับชิโยดะ จะทำให้บรรลุเป้าหมายรวดเร็วขึ้นเป็นภายใน 4 ปี
TTCL มีพันธมิตรญี่ปุ่นระดับโลก 2 รายเป็นผู้ถือหุ้น คือ โตโย เอ็นจิเนียริง ซึ่งเป็นบริษัทแม่ที่ก่อตั้งบริษัท และ ชิโยดะ ซึ่งทั้ง 2 แห่งเป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างใหญ่ที่สุดอันดับ 2 และอันดับ 3 ของญี่ปุ่น มีความเชี่ยวชาญงานแตกต่างกันคือ โตโย เอ็นจิเนียริง เชี่ยวชาญงานก่อสร้างโรงงาน ปิโตรเคมี และ โรงงานปุ๋ย ในขณะที่ ชิโยดะ เชี่ยวชาญงานโรงแยกแก๊ส LNG โรงกลั่นน้ำมัน โรงไฟฟ้า และ โรงงานปิโตรเคมีขั้นต้น (Upstream) จึงช่วยเพิ่มศักยภาพการรับงานของ TTCL ให้กว้างขวางขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ขณะนี้บริษัทฯ มีงานในมือ (backlog) อยู่ 1 หมื่นล้านบาท และกำลัง เตรียมยื่นประมูลโครงการใหม่จำนวน 14 โครงการ ซึ่งเป็นทั้งงานในประเทศและต่างประเทศ มีมูลค่ารวม 5.45 หมื่นล้าน คาดว่าจะเริ่มรู้ผลการประมูลตั้งแต่ไตรมาส 1/54 เป็นต้นไป โดยคาดหวังจะชนะประมูลราว 1 ใน 3 ของโครงการที่เข้าประมูลทั้งหมด โดยพิจารณาจากสถิติย้อนหลังในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา และในปีหน้า TTCL คาดว่าจะเติบโต 40% ในแง่ของรายได้