(แก้ไข) ฟิทช์คงอันดับเครดิต KEST ที่ ‘A(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday December 15, 2010 18:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ขอแก้ไขพาดหัวข่าวเป็น "ฟิทช์คงอันดับเครดิต KEST ที่ ‘A(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ" จากเดิม "ฟิทช์คงอันดับเครดิต KEST ที่ ‘F1(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ"

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘A(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ และอันดับเครดิตระยะสั้นภายในประเทศที่ ‘F1(tha)’ ของบริษัทหลักทรัพย์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEST ในขณะเดียวกัน ฟิทช์คงอันดับเครดิตภายในประเทศโปรแกรมตั๋วแลกเงินซึ่งสามารถออกเพื่อหมุนเวียนใหม่ได้อายุไม่เกิน 270 วัน มูลค่าไม่เกิน 2.0 พันล้านบาท ของ KEST ที่ระดับ ‘F1(tha)’

อันดับเครดิตของ KEST สะท้อนถึงเครือข่ายธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์ในประเทศที่แข็งแกร่ง รวมทั้งการสนับสนุนจากบริษัทแม่คือบริษัทกิมเอ็งโฮลดิ้งส์ จำกัด ในสิงคโปร์ หรือ KEH และสถานะเงินทุนที่แข็งแกร่งของบริษัท KEST ยังคงดำเนินธุรกิจโดยใช้กลยุทธ์ที่มีความเสี่ยงต่ำโดยเน้นการทำธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เป็นหลัก ซึ่งช่วยให้บริษัทสามารถมีเสถียรภาพของผลการดำเนินงานแม้ว่าต้องเผชิญกับสภาวะธุรกิจจะมีความผันผวน ส่วนความเสี่ยงที่เกิดจากความผันผวนด้านตลาด (Market Risk) ยังมีอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจาก KEST มีการลงทุนในหลักทรัพย์เพื่อตัวบริษัทเองในระดับต่ำ อย่างไรก็ตามการที่บริษัทเริ่มขยายธุรกิจ derivative warrants และมีแผนขยายการลงทุนในหลักทรัพย์เพื่อตัวบริษัทเองมากขึ้นในอนาคตอาจทำให้มีความเสี่ยงสูงขึ้น แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพของ KEST เนื่องจากความสามารถในรักษาส่วนแบ่งการตลาดที่แข็งแกร่ง การสนับสนุนที่มีอย่างต่อเนื่องจาก KEH และระดับของสถานะเงินทุนที่ยังคงแข็งแกร่ง อันดับเครดิตภายในประเทศของ KEST อาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นได้หาก KEST มีการขยายเครือข่ายธุรกิจที่ต่อเนื่องในขณะที่ยังสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้ดี และ/หรือ การถือหุ้นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของ KEH จาก 55.9% หรือระดับของการร่วมดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นกับ KEH ในขณะที่ การลดลงอย่างมีนัยสำคัญของระดับเงินทุนหรือการเพิ่มขึ้นอย่างมากของอัตราส่วนหนี้สินซึ่งเป็นผลจากนโยบายขยายธุรกิจเชิงรุกอาจมีผลกระทบในทางลบกับอันดับเครดิตได้

          ผลการดำเนินงานของ KEST ยังคงแข็งแกร่งถึงแม้ว่าจะมีการเปิดเสรีค่านายหน้าธุรกิจค้าหลักทรัพย์มาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2553        KEST มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 564 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 (เทียบกับ 520 ล้านบาท ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552) อันเป็นผลจากปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ที่สูงขึ้นโดยเฉพาะช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ของปี 2553 KEST ยังคงมีอัตราส่วนกำไรที่แข็งแกร่ง โดยมี ROA (อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ต่อปี) และ ROE (อัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้นต่อปี) ที่ 9.3% และ 17.2% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 KEST มีรายได้จากธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์เป็นรายได้หลัก โดยมีสัดส่วน 88% ของรายได้ทั้งหมดใน 9 เดือนแรกของปี 2553 (88% ในปี 2552) ปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ที่คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงในปี 2554 น่าจะมีส่วนช่วยทำให้ผลการดำเนินงานของ KEST ยังคงแข็งแกร่งต่อเนื่องในปี 2554

อย่างไรก็ตาม KEST มีสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อเพื่อการซื้อหลักทรัพย์ที่สูงและมากกว่าคู่แข่งเนื่องจากบริษัทมีฐานลูกค้ารายย่อยมากกว่า สินเชื่อเพื่อการซื้อหลักทรัพย์อยู่ที่ 4.3 พันล้านบาท หรือประมาณ 97% ของส่วนของผู้ถือหุ้น ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553 สูงขึ้นเทียบกับระดับกว่า 2.0 พันล้านบาท ในปี 2552 หรือประมาณ 45% ของส่วนของผู้ถือหุ้น ซึ่งเกิดจากปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตามความเสี่ยงทางด้านเครดิตยังคงอยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก เนื่องจากความเสี่ยงได้ถูกลดทอนลงโดยการเรียกหลักทรัพย์เพิ่มและการบังคับขายหลักทรัพย์ ลูกหนี้ด้อยคุณภาพซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ยังอยู่ในระดับคงที่ 291 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 หรือ 3.4% ของสินเชื่อซื้อขายหลักทรัพย์รวม ซึ่งสินเชื่อด้อยคุณภาพในส่วนนี้ได้มีการตั้งสำรองครบถ้วนแล้ว

สภาพคล่องของ KEST อ่อนแอลงโดยมีอัตราส่วนของสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงต่อสินทรัพย์รวมลดลงมาที่ระดับ 5% ณ สิ้นเดือนกันยายนปี 2553 จาก 32% ณ สิ้นปี 2552 อย่างไรก็ตามความเสี่ยงด้านสภาพคล่องได้ถูกลดทอนลงจากการที่ KEST มีวงเงินสนับสนุนด้านสภาพคล่องจาก KEH และยังได้รับวงเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องจากสถาบันการเงินในประเทศ โดยมียอดที่สามารถเบิกใช้ได้คงเหลือจำนวน 1.8 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายนปี 2553 รวมถึงความสามารถของ KEST ในการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ในประเทศเมื่อต้องการ

เงินทุนในการประกอบธุรกิจของ KEST มาจากส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นหลัก ในขณะที่หนี้สินส่วนใหญ่เป็นเจ้าหนี้ธุรกิจหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ส่วนของผู้ถือหุ้นของ KEST มีคุณภาพสูงซึ่งประกอบด้วยส่วนทุนที่ชำระแล้วเป็นหลัก อัตราส่วนส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์ยังอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งถึงแม้จะลดลงมาอยู่ที่ 44.4% ณ สิ้นเดือนมิถุนายนปี 2553 เทียบกับ 63.6% ณ สิ้นปี 2552 เนื่องจากยอดลูกหนี้ธุรกิจหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่เพิ่มขึ้นในช่วง 3 วันทำการสุดท้ายในเดือนกันยายนปี 2553 เทียบกับปี 2552 อัตราส่วนเงินกองทุน (NCR) ของบริษัทลดลงมาที่ 97.4% ณ สิ้นเดือนกันยายนปี 2553 จาก 147% ณ สิ้นปี 2552 แต่ยังคงแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับระดับขั้นต่ำที่กำหนดไว้ที่ 7% สำหรับธุรกิจหลักทรัพย์ในประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ