ก.ล.ต.เดินหน้าแผนกลยุทธ ลดผูกขาด-เปิดช่องสินค้าใหม่-เข้มบังคับใช้กม.

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday December 22, 2010 14:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)กล่าวว่า การดำเนินงานของ ก.ล.ต.ในปี 54 จะเป็นไปตามแผนกลยุทธ์ปี 53—55 ต่อเนื่องจากปีนี้ โดยแผนกลยุทธ์ดังกล่าวได้คำนึงถึงความท้าทายจากการที่ตลาดทุนทั่วโลกมีการเติบโตและพัฒนาอย่างรวดเร็ว และมีการเชื่อมโยงกัน ทำให้ตลาดทุนไทยมีความเสี่ยงที่จะหมดความสำคัญในสายตาผู้ลงทุนทั่วโลก

ขณะเดียวกันระดับความพร้อมของผู้ลงทุนไทยและระบบกฎหมายไทยก็ยังเป็นจุดอ่อนที่ต้องเร่งแก้ไข ประกอบกับวิกฤตการเงินโลกที่ผ่านมาทำให้เห็นบทเรียนของการกำกับดูแลในต่างประเทศที่ไม่รัดกุม ดังนั้น เพื่อให้สามารถรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และสอดรับกับแผนพัฒนาตลาดทุนไทยปี 53—57 ก.ล.ต. จึงได้ดำเนินงานโดยเน้นนโยบาย 5 ด้าน โดยมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้

ในด้านการลดการผูกขาดและสนับสนุนการเชื่อมโยง โดยดำเนินมาตรการเปิดเสรีในด้านต่าง ๆ มีการผลักดันร่างกฎหมายรองรับการปฏิรูปตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (demutualization) เพื่อยกเลิกการผูกขาด ยกเลิกการผูกขาดของกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์ในการเข้าถึงระบบซื้อขายหลักทรัพย์ และยกเลิกการผูกขาดของ บล.สมาชิกในกระบวนการตัดสินใจในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยครม.มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวเมื่อ พ.ค.53 และขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาอยู่ระหว่างตรวจร่าง

และ ออกเกณฑ์รองรับการขาย Exchange Traded Fund (ETF) ต่างประเทศและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านกองทุนรวมไทย ลดการผูกขาดของ บลจ.ไทย

สนับสนุนโครงการ ASEAN Linkage โดยปรับปรุงเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรค เช่น อนุญาตให้ บล. ไทยนำบทวิเคราะห์ของ บล. ต่างประเทศมาเผยแพร่และเปิดให้บุคลากรของ บล. ต่างประเทศร่วมกับ บล. ไทยให้คำแนะนำแก่ผู้ลงทุนไทย, อนุญาตให้สำนักหักบัญชีและศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ เป็นสมาชิกของศูนย์รับฝากฯ และสำนักหักบัญชีของไทย เพื่อรองรับการซื้อขายข้ามตลาด

เปิดให้รัฐบาลต่างประเทศเป็น originator ในการออก securitization โดยประสานงานกับธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ผู้ลงทุนไทยลงทุนในต่างประเทศได้มากขึ้น รวบรวมและเปรียบเทียบเกณฑ์ของกองทุนรวมไทยกับเกณฑ์สากลที่เป็นอุปสรรคในการแข่งขันของ บลจ. ไทย เพื่อนำมาปรับปรุงเกณฑ์และเตรียมรับการแข่งขัน

นอกจากนั้น ก.ล.ต.ยังเปิดช่องทางสำหรับสินค้าและบริการใหม่ ๆ เพื่อให้ผู้ลงทุนและผู้ระดมทุนมีทางเลือกและมีเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงมากขึ้น ได้แก่ ออกเกณฑ์การจัดตั้ง infrastructure fund รองรับการลงทุนของโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐและเอกชน ออกเกณฑ์การออกตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศ (FX bond) ในประเทศไทย การออก Sukuk การจัดตั้งกองทุนรวมทองคำ (gold fund) ที่ลงทุนโดยตรงในทองคำแท่งหรือจัดตั้งในรูป gold ETF

รวมทั้งได้รับอนุมัติจากครม.ให้เพิ่มประเภทของสินค้าหรือตัวแปรอ้างอิงภายใต้ พ.ร.บ.สัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 ได้แก่ กลุ่มโลหะมีค่า (เงิน แพลทตินัม) กลุ่มโลหะอื่น (ทองแดง สังกะสี เหล็ก อลูมินั่ม ดีบุก) กลุ่มสินทรัพย์อื่น (ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ ไฟฟ้า พลาสติก) และกลุ่มตัวแปรอื่น (ค่าระวาง คาร์บอนเครดิต ดัชนีสินค้าโภคภัณฑ์) นอกจากนี้ ยังได้เห็นชอบให้ตลาดอนุพันธ์ ออกตราสาร interest rate futures/bond futures อีกด้วย

พร้อมทั้ง เสนอแนวทางปรับปรุงการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการส่งเสริมธุรกิจเงินร่วมลงทุน (VC fund) ต่อกระทรวงการคลัง โดยเน้นเฉพาะธุรกิจที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุน และ ปรับปรุงการกำกับดูแลและประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย ได้แก่ เกณฑ์การอนุญาตให้ออกและเสนอขายหลักทรัพย์ เน้นคุณภาพการเปิดเผยข้อมูลและการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียน และ จัดทำคู่มือคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัทจดทะเบียนเพื่อให้ทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รวมทั้ง ปรับปรุงเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูลในการเสนอขายกองทุนรวม โดยเน้นการแจกแจงและจัดระดับความเสี่ยง รวมถึงให้มี fact sheet สำหรับตราสารที่มีความซับซ้อน เพิ่มความเข้มงวดในการให้คำแนะนำและขายสินค้าที่เหมาะสมให้แก่ลูกค้า โดยให้ผู้ขายต้องทำความรู้จักลูกค้าและประเมินระดับความเสี่ยงที่ลูกค้ายอมรับได้ก่อนให้คำแนะนำหรือขายหลักทรัพย์ให้ และ กำหนดให้ผู้บริหาร บล. ร่วมรับผิดกรณี บล. หรือลูกค้ามีพฤติกรรมการซื้อขายไม่เหมาะสมด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าไม่มีส่วนในการกระทำผิด

ผลักดันให้สมาคม บล. และ บลจ. จัดทำมาตรฐานการตรวจสอบข้อมูลของตราสารที่ตนจะลงทุนหรือแนะนำให้ลูกค้าลงทุน (due diligence) เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการลงทุน, ให้สมาคม บล. จัดทำมาตรฐานการบริหารความเสี่ยงของบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของ บล., ตรวจสอบ บล. และ บลจ. ที่มีความเสี่ยงสูงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2553 ตรวจสอบกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงครบทุกบริษัท และจะดำเนินการตรวจสอบครบทุก บล. ทุก 3 ปี และครบทุก บลจ. ทุก 5 ปี

แก้ไขเกณฑ์การกำกับดูแล Credit Rating Agency เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลในการจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์, เน้นการติดตามแบบบูรณาการ โดยแลกเปลี่ยนข้อมูลกับตลาดหลักทรัพย์ฯ และส่วนงานภายในในการประเมินและติดตามบริษัทจดทะเบียนที่มีความเสี่ยงสูง, ปรับปรุงประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย โดยผลักดันให้มีการออกกฎหมาย เพื่อนำมาตรการลงโทษทางแพ่ง (civil penalty) และการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (class action) มาใช้

สร้างความรู้ความเข้าใจแก่สาธารณชน เพื่อให้ปกป้องประโยชน์ของตนเองได้อันเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การผ่อนคลายการกำกับดูแลอย่างเข้มงวดจากทางการ และเอื้อให้ภาคธุรกิจพัฒนาสินค้าและบริการใหม่สู่ตลาดทุน โดยมีแผนการที่จะผลักดันการให้ความรู้ทางการเงินแก่ผู้ลงทุนและประชาชนทั่วไปให้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิด financial planner นอกจากนี้ ได้ผลักดันการแก้ไขเกณฑ์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าให้ผู้ถือหุ้นสามารถมอบฉันทะให้แก่ผู้แทนสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยเข้าประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีแทน โดยกรมพัฒนาธุรกิจฯ จะแก้ไขเกณฑ์ดังกล่าวหลังเสร็จการประชุมผู้ถือหุ้นปี 2554


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ