นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.กิมเอ็ง(ประเทศไทย) (KEST) กล่าวในการเสวนา"2554 ปีทองเศรษฐกิจไทย" ว่า บล.กิมเอ็งฯ ตั้งเป้าดัชนี SET ในปีหน้าที่ 1,234 จุด โดยเชื่อว่าจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวภายในครึ่งปีแรก ส่วนครึ่งปีหลังคงต้องรอดูภาวะตลาดในช่วงครึ่งปีก่อน
พร้อมทั้งแนะหุ้นที่น่าลงทุนในปีหน้า โดยกิมเอ็งให้น้ำหนักการลงทุนมาก คือ กลุ่มธนาคาร, น้ำมันและแก๊ส, ถ่านหิน, ยานยนต์, วัสดุก่อสร้าง และการเดินทาง พร้อมทั้งมองหุ้นเด่นในปีหน้า ได้แก่ BANPU จากคาดการปริมาณขายถ่านหินที่จะสูงขึ้น รับผลดีจากการซื้อธุรกิจเหมืองในออสเตรเลีย, กลุ่ม PTT ยังน่าสนใจแต่ยังมีเรื่องมอนทาร่าที่เป็นปัจจัยเสี่ยง จึงเลือก TOP เป็น top pick, SCB เด่นในกลุ่มแบงก์, SCC, MAJOR, TUF, BGH, CK
นายมนตรี กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมาของปีนี้ ตลาดหุ้นไทยผ่านการทดสอบที่ยิ่งใหญ่จากวิกฤติ 3 ด้าน คือ วิกฤติการเงินโลกที่หลายฝ่ายบอกว่าวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ครั้งนี้หนักกว่าวิกฤติต้มยำกุ้งในอดีต, วิกฤติความแตกแยกในประเทศ และวิกฤติจากภัยธรรมชาติที่เกิดน้ำท่วมหนัก นอกจากนั้น ยังเกิดวิกฤติวิธีคิดของคนไทยที่มองเหตุการณ์ต่างๆ ในแง่ลบมากกว่าความเป็นจริง ซึ่งทำให้ผลกระทบจะมีมากกว่าที่ควร
ทั้งนี้ หากวิกฤติต่างๆ แก้ไขได้ก็จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตต่อไปได้ดี เพราะที่ผ่านมาแม้ว่าจะเกิดวิกฤติหลายเรื่อง แต่เศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้ถึง 7.5% ในปีนี้ สูงกว่าที่เคยคาดไว้ในช่วงต้นปีที่ 3.5% และล่าสุดคาดว่าในไตรมาส 4/53 เศรษฐกิจยังเติบโตได้ 2.5%
และในไตรมาส 1/54 ยังจะเติบโตต่อเนื่องอีก 0.4% แม้ว่าฐานในไตรมาส 1/53 จะขยายตัวในระดับสูง จากนั้นในไตรมาส 2/54 จะเติบโตประมาณ 5.5% และไตรมาส 3/54 จะเติบโตประมาณ 5.9% ทำให้ทั้งปี 54 เศรษฐกิจไทยจะโตได้ถึง 4%
นายมนตรี กล่าวว่า ปัจจัยต่างประเทศที่ยังต้องจับตามองคือ กระแสการเงินที่เชื่อมโยงทั้งโลก ซึ่งในปีนี้เห็นผลชัดเจนและมองว่าประเทศที่ปฏิเสธเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศถือเป็นเรื่องที่อันตรายมาก เพราะไม่สามารถฝืนกระแสได้ ในปีหน้าคาดว่าเงินทุนยังไหลเข้ามาในเอเชียรวมถึงไทย เป็นผลจากมาตรการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ต่อเนื่องจากปีนี้ที่ เนื่องจากอัตราการว่างงานยังสูง ดังนั้นการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐเป็นไปได้ยาก ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยกับประเทศอื่นยังอยู่ในระดับสูง
อย่างไรก็ตาม มองว่า ภาวะฟองสบู่ในตลาดหุ้นไทยคงเกิดได้ยาก เพราะปัจจุบันสภาพปัจจัยต่างๆ ได้แตกต่างไปจากในปี 40 ที่มีอัตราหนี้สินต่อทุนของภาคธุรกิจสูงถึง 2.1 เท่า โดยเฉพาะในตลาดหุ้นที่มีการปล่อย margin loan สูงสุดถึง 1.2-1.5 แสนล้านบาท ณ ดัชนีที่ 1,000 จุด และมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม(Market cap) อยู่ที่ 3.5 ล้านล้านบาท แต่ ณ วันนี้หนี้สินต่อทุนอยู่ที่ 1.1-1.2 เท่า ดัชนีอยู่ที่ประมาณ 1,000 จุด และ Market cap อยู่ที่ 8 ล้านล้านบาท กลับมีการปล่อย margin loan แค่ 30,000 ล้านบาท
ปัจจัยหลายด้านสนับสนุนให้ตลาดหุ้นเติบโตต่อไปได้ แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยง โดยปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตาม คือ สถานการณ์ปัญหาเศรษฐกิจในสหรัฐ และยุโรปที่ยังต้องทุ่มเต็มที่ในการแก้ไขปัญหา แม้ว่าที่สุดแล้วคงจะผ่านไปได้ แต่ก็ยังต้องจับตาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งปัจจัยในประเทศ คือ ประเด็นด้านการเมือง และความแตกแยกในสังคม หากทุกคนเติมรักให้กันก็น่าจะทำให้ประเทศก้าวข้ามผ่านปัญหาไปได้