ทริสฯคงเครดิต TBANK ที่ A+ แนวโน้ม Positive ฐานะแข็งแกร่งหลังควบ SCIB

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday December 27, 2010 14:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ ธนาคารธนชาต(TBANK)ที่ระดับ “A+"และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกันและหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของธนาคารที่ระดับ “A" และ “A-" ตามลำดับ พร้อมแนวโน้ม "Positive" หรือ “บวก" อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งขึ้นจากผลของการที่ธนาคารซื้อกิจการของธนาคารนครหลวงไทย (SCIB) ซึ่งเป็นธนาคารขนาดกลางที่มีฐานลูกค้าขนาดใหญ่และกระจายตัวมากกว่า

รวมถึงคณะผู้บริหารที่มีความสามารถและประสบการณ์ในธุรกิจหลักคือสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ตลอดจนการมีเครือข่ายธุรกิจที่กว้างขวางขึ้น และการมีกลยุทธ์ทางธุรกิจที่เหมาะสมต่อการสร้างความแข็งแกร่งในการผสานธุรกิจในกลุ่มธนชาต

นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังได้รับแรงหนุนจากสถานะเครดิตที่แข็งแกร่งของผู้ถือหุ้นเชิงกลยุทธ์ ได้แก่ Bank of Nova Scotia (BNS) จากประเทศแคนาดาซึ่งถือหุ้นธนาคารในสัดส่วน 48.99%

อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวมีข้อจำกัดจากสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)ที่สูงขึ้นของธนาคาร ความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการควบรวมกิจการระหว่าง TBANK และ SCIB และภาวะการแข่งขันของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนของการเมืองภายในประเทศและภาวะเศรษฐกิจโลกอาจเป็นปัจจัยจำกัดแผนการขยายธุรกิจและความสามารถในการทำกำไรของกลุ่มธนชาตในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

ในขณะที่อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของธนาคารธนชาต (TBANK197A และ TBANK247A) นั้นสะท้อนถึงความด้อยสิทธิและความเสี่ยงต่อการเลื่อนชำระดอกเบี้ยสำหรับหุ้นกู้ดังกล่าวซึ่งจะครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2562 และ 2567 โดยหุ้นกู้ดังกล่าวยังสะสมผลตอบแทน มีลักษณะด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน และธนาคารสามารถไถ่ถอนคืนทั้งจำนวนก่อนครบกำหนดได้หลังจาก 5 ปีนับจากวันที่ออกตราสาร และอยู่ภายใต้ความเห็นชอบของธนาคารแห่งประเทศไทย

ผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิประเภทนี้จะได้รับการชำระเงินในลำดับถัดจากผู้ฝากเงิน ผู้ถือหุ้นกู้ไม่มีประกัน และผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิของธนาคาร โดยธนาคารไม่ต้องมีภาระผูกพันในการจ่ายหนี้ใดสำหรับหุ้นกู้ประเภทนี้ในกรณีที่ธนาคารมีผลประกอบการขาดทุนในระยะเวลา 6 เดือนซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ธนาคารต้องจ่ายชำระดอกเบี้ย และธนาคารไม่สามารถจ่ายเงินปันผลในช่วงดังกล่าวหรือในช่วง 6 เดือนข้างหน้าได้ อย่างไรก็ตาม จำนวนดอกเบี้ยที่จ่ายคืนจะเป็นจำนวนยอดสะสม

แนวโน้มอันดับเครดิต “Positive" หรือ “บวก" สะท้อนบทบาทของธนาคารธนชาตในการเป็นผู้ดำเนินธุรกิจด้านการเงินและการธนาคารพาณิชย์ที่สำคัญของกลุ่มธนชาต โดยคาดหมายว่าฐานะทางการตลาดในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ของธนาคารภายใต้การควบรวมกิจการระหว่างธนาคารธนชาตและธนาคารนครหลวงไทยจะแข็งแกร่งยิ่งขึ้นและสามารถควบคุมคุณภาพสินทรัพย์มิให้เสื่อมถอยลงได้ รวมถึงสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการควบรวมกิจการ

นอกจากนี้ ยังคาดหมายว่าความสามารถในการเพิ่มรายได้ทั้งรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย รวมถึงการประหยัดต้นทุนที่เกิดจากการผสานประโยชน์ภายในกลุ่มธนชาตจะช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของธนาคารที่อาจสูงขึ้นในช่วงระหว่างการควบรวมกิจการของธนาคารทั้ง 2 แห่ง

ธนาคารธนชาตซื้อกิจการของธนาคารนครหลวงไทยตามแผนกลยุทธ์การเติบโตโดยวิธีการซื้อหุ้นจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินและจากผู้ถือหุ้นส่วนน้อยรายอื่น ๆ ในช่วงไตรมาสที่ 2/53 รวมทั้งสิ้น 99.24% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ทั้งนี้ ธนาคารกลายเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดของสินทรัพย์รวมใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของประเทศ

ภายหลังการซื้อกิจการ ทริสเรทติ้งเห็นว่าธนาคารธนชาตมีสภาพคล่องที่ดีขึ้น โดยมีฐานเงินฝากที่ขยายตัวไปยังฐานลูกค้ารายย่อยเพิ่มมากขึ้น อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวม ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553 เพิ่มขึ้นเป็น 8.45% จาก 6.44% ในปี 2552 จากผลของการเพิ่มทุนจำนวน 35,790 ล้านบาทในเดือนเมษายน 2553 จากผู้ถือหุ้นหลักคือบริษัททุนธนชาตและ BNS อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนดังกล่าวยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทย 11 แห่งซึ่งอยู่ที่ 10.06%

ปัจจุบัน ธนาคารธนชาตอยู่ระหว่างการดำเนินการตามแผนการควบรวมกิจการและการถอนหุ้นธนาคารนครหลวงไทยออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโดยสมัครใจ ธนาคารนครหลวงไทยจะยังคงดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ต่อไปจนกระทั่งกระบวนการควบรวมกิจการแล้วเสร็จ และจะต้องคืนใบอนุญาตการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์แก่ธนาคารแห่งประเทศไทยภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2554

ทั้งนี้ อันดับเครดิตและแนวโน้มอันดับเครดิตของธนาคารจะยังคงได้รับผลกระทบจากความท้าทายในเรื่องคุณภาพสินทรัพย์ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อเงินกองทุนและผลประกอบการของธนาคาร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ