บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บมจ. ทุนธนชาต(TCAP) ที่ระดับ “A" ด้วยแนวโน้ม “Positive" หรือ “บวก"
อันดับเครดิตสะท้อนฐานะการเป็นบริษัทโฮลดิ้งซึ่งลงทุนในกลุ่มธนชาต ตลอดจนอำนาจการบริหารงานใน ธนาคารธนชาต (TBANK) ผ่านการถือหุ้น 50.96% และผลตอบแทนในรูปของเงินปันผลที่ได้รับอย่างสม่ำเสมอจากธนาคารธนชาต ในการจัดอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงคณะผู้บริหารที่มีความสามารถ ระบบการบริหารความเสี่ยงที่พัฒนาจนได้มาตรฐาน ฐานเงินทุนที่แข็งแกร่ง รวมถึงการสนับสนุนทั้งทางด้านธุรกิจและเงินทุนจากพันธมิตรคือ Bank of Nova Scotia (BNS)
นอกจากนี้ การที่ธนาคารธนชาตซื้อกิจการของธนาคารนครหลวงไทย (SCIB) ยังช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ทั้งสถานะทางการตลาด ธุรกิจที่หลากหลาย และฐานะทางการเงินในอนาคตอันเป็นผลจากการเติบโตของสินเชื่อ ฐานเงินรับฝาก และจำนวนสาขาของธนาคารด้วย
อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวมีข้อจำกัดจากความอ่อนแอของคุณภาพสินทรัพย์ รวมถึงความเสี่ยงในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการโอนกิจการของธนาคารนครหลวงไทยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของธนาคารธนชาต อันดับเครดิตยังถูกจำกัดด้วยสภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ และธุรกิจหลักทรัพย์ รวมถึงความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศและสภาพเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งเป็นตัวจำกัดความสามารถในการทำกำไรของกลุ่มและโอกาสในการขยายตัวทางธุรกิจ
แนวโน้มอันดับเครดิต “Positive" หรือ “บวก" สะท้อนถึงความคาดหมายที่ธนาคารธนชาตซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของบริษัท ทุนธนชาตจะสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่นในช่วงเวลาของการรับโอนธุรกิจ และสามารถใช้จุดแข็งต่าง ๆ ของธนาคารธนชาต ธนาคารนครหลวงไทย และ BNS ในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่สถานะทางการตลาดของธุรกิจหลักของบริษัททุนธนชาตได้เป็นอย่างดี และจะส่งผลให้บริษัทมีรายได้ที่มั่นคงแข็งแกร่งยิ่งขึ้นต่อไป
นอกจากนี้ การสนับสนุนด้านเงินทุนและความเชี่ยวชาญทางธุรกิจจากทั้ง BNS และบริษัททุนธนชาตจะช่วยให้ผลการดำเนินงานโดยรวมของธนาคารธนชาตดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังคาดว่าบริษัทจะสามารถควบคุมการถดถอยของคุณภาพสินทรัพย์ภายหลังการซื้อกิจการของธนาคารนครหลวงไทยได้โดยเร็ว ทั้งนี้ ความแข็งแกร่งของฐานเงินทุนและความเพียงพอของสภาพคล่องยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยบรรเทาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
ทริสเรทติ้งรายงานว่า BNS กลายมาเป็นพันธมิตรธุรกิจของบริษัททุนธนชาตโดยมีสัดส่วนการถือหุ้นในธนาคารธนชาต 24.98% ในปี 2550 และเพิ่มขึ้นเป็น 48.99% ในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2552 บริษัทและ BNS ได้เพิ่มทุนในธนาคารธนชาตอีกจำนวน 2,000 ล้านบาท และด้วยกลยุทธ์การเติบโตของธนาคารธนชาต บริษัทและ BNS ได้เพิ่มทุนในธนาคารธนชาตอีกครั้งจำนวน 35,790 ล้านบาทในเดือนเมษายน 2553 เพื่อใช้เป็นเงินทุนสำหรับการซื้อหุ้นธนาคารนครหลวงไทยจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินและจากผู้ถือหุ้นส่วนน้อยอื่น ๆ เป็นผลให้ธนาคารนครหลวงไทยกลายเป็นบริษัทย่อยของธนาคารธนชาตซึ่งถือหุ้นในสัดส่วน 99.24% การซื้อธนาคารนครหลวงไทยช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ธนาคารธนชาต อีกทั้งยังเป็นการกระจายพอร์ตสินเชื่อซึ่งทำให้สัดส่วนระหว่างสินเชื่อภาคธุรกิจและสินเชื่อรายย่อยของธนาคารธนชาตดีขึ้น
ฐานะการเงินของ TCAP เติบโตอย่างต่อเนื่อง มีกำไรสุทธิสำหรับ 9 เดือนแรกของปี 2553 จำนวน 4,250 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552 ที่จำนวน 3,936 ล้านบาท อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยงวด 9 เดือนแรกของปี 2553 เท่ากับ 0.65% (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) เป็นผลจากการที่บริษัทมีสินทรัพย์ขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 2 เท่าภายหลังการควบรวมกิจการกับธนาคารนครหลวงไทย อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ยงวด 9 เดือนแรกของปี 2553 ลดลงไปอยู่ที่ 7.24% % (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของผู้ถือหุ้นส่วนน้อย (NBS) ตามการเพิ่มทุนในธนาคารธนชาต
TCAP ได้สร้างคณะผู้บริหารที่มีประสิทธิภาพซึ่งทำให้บริษัทสามารถให้การสนับสนุนบริษัทย่อยเพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขันได้ อีกทั้งยังมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวเพื่อพร้อมรับกับสภาวะทางเศรษฐกิจและธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี บริษัทได้พัฒนาระบบการบริหารความเสี่ยงให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจธนาคารอาจเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขยายธุรกิจและการทำกำไรของธนาคารธนชาตในอนาคต