ทริสเพิ่มเครดิตองค์กร SCIB เป็น A+, ตราสารหนี้เป็น A แนวโน้ม Positive

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday December 29, 2010 16:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของ ธนาคารนครหลวงไทย(SCIB) เป็นระดับ “A+" จาก “A" และเพิ่มอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกันของธนาคารเป็นระดับ “A" จาก “A-" โดยแนวโน้มยังคง Positive" หรือ “บวก"

อันดับเครดิตที่ปรับเพิ่มได้รับการยกระดับจากอิทธิพลของอันดับเครดิตเฉพาะของธนาคารจากการมีฐานะเป็นธนาคารลูกซึ่งมีความสำคัญในการดำเนินธุรกิจหลักให้แก่ธนาคารธนชาต(TBANK) โดยธนาคารธนชาตได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ “A+/Positive" จากทริสเรทติ้ง

อันดับเครดิตเฉพาะของ SCIB สะท้อนถึงความสามารถของคณะผู้บริหารในการดำเนินกิจการธนาคารขนาดกลางที่มีเครือข่ายสาขาทั่วประเทศ อีกทั้งยังมีสภาพคล่องสูง มีการบริหารสภาพคล่องที่ดี มีฐานลูกค้าเงินฝากที่แข็งแกร่ง และมีเงินกองทุนที่เพียงพอรองรับความสูญเสียจากความเสี่ยงที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายได้ในระดับหนึ่ง

การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงการถดถอยลงอย่างต่อเนื่องของคุณภาพสินทรัพย์ตามปริมาณของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความไม่แน่นอนของการควบรวมธุรกิจระหว่างธนาคารและ TBANK ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการขยายธุรกิจและความสามารถในการทำกำไรของธนาคารในช่วงการรวมกิจการ

แนวโน้มอันดับเครดิต “Positive" หรือ “บวก" สะท้อนบทบาทของธนาคารในฐานะเป็นธุรกิจหลักของ TBANK โดยคาดหมายว่าธนาคารจะสามารถใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของ TBANK ในการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์และความเสี่ยงในช่วงการควบรวมธุรกิจได้ ทั้งนี้ ระบบบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่ดี คณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์ และระดับเงินกองทุนที่เพียงพอจะช่วยลดทอนความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้

TBANK ซื้อกิจการของ SCIB โดยผ่านการซื้อหุ้นจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และจากผู้ถือหุ้นส่วนน้อยรายอื่น ๆ ในช่วงไตรมาส 2/53 ณ สิ้นเดือน ก.ย.53 TBANK ถือหุ้นใน SCIB รวมทั้งสิ้น 99.24% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด SCIB จึงกลายเป็นธุรกิจหลักของ TBANK โดยมีสัดส่วนเงินฝากคิดเป็น 56% ของเงินฝากตามงบการเงินรวมและมีสัดส่วนสินทรัพย์และสินเชื่อคิดเป็น 47% ของสินทรัพย์และสินเชื่อตามงบการเงินรวมของ TBANK ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 53 กำไรสุทธิของ SCIB มีสัดส่วนสูงถึง 51% ของกำไรสุทธิตามงบการเงินรวมของ TBANK

ปัจจุบัน TBANK อยู่ระหว่างการดำเนินการตามแผนควบรวมกิจการกับ SCIB โดย SCIB จะยังคงดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ต่อไปจนกระทั่งกระบวนการควบรวมกิจการแล้วเสร็จโดยจะต้องคืนใบอนุญาตการประกอบธุรกิจแก่ธนาคารแห่งประเทศไทยภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2554

ณ เดือน ก.ย.53 SCIB เป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ลำดับที่ 8 ของไทย โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินทรัพย์ สินเชื่อ และเงินฝาก 4% สินทรัพย์รวมของธนาคารมีจำนวน 395 พันล้านบาท ณ เดือน ก.ย.53 ในขณะที่มียอดสินเชื่อและเงินฝาก 273 พันล้านบาทและ 278 พันล้านบาทตามลำดับ ภายหลังการซื้อกิจการโดย TBANK สินเชื่อและเงินฝากของธนาคารลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ของปี 53 ตั้งแต่เดือน ต.ค.53 ธนาคารได้ออกผลิตภัณฑ์เงินฝากร่วมกับ TBANK โดยมีข้อเสนอที่เหมือนกันแก่ลูกค้า อย่างไรก็ตาม การถ่ายโอนกิจการในช่วงของการควบรวมธุรกิจจะเป็นไปอย่างราบรื่นหรือไม่นั้นเป็นสิ่งที่ต้องติดตามต่อไป

คุณภาพสินทรัพย์ของ SCIB ถดถอยลงอย่างต่อเนื่องจากปี 49 ถึงเดือน ก.ย.53 สัดส่วนสินเชื่อจัดชั้นที่ค้างชำระเกิน 3 เดือนต่อสินเชื่อรวมของธนาคารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากระดับ 2.6% ในปี 48 เป็น 9.3% ในปี 52 และ 10.5% ณ เดือน ก.ย.53 ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ 5.7% ของธนาคารพาณิชย์ 11 แห่ง ในขณะเดียวกัน อัตราส่วนสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สินเชื่อจัดชั้นที่ค้างชำระเกิน 3 เดือน รวมยอดคงค้างสินเชื่อที่ปรับโครงสร้างหนี้ และสินทรัพย์รอการขาย) ต่อสินทรัพย์รวมของธนาคารก็เพิ่มขึ้นเช่นกันจากระดับ 9.1% ในปี 48 เป็น 13.5% ในปี 52 และ 14.3% ณ เดือน ก.ย.53

อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในปี 52 คิดเป็น 122% ของอัตราขั้นต่ำตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย และลดลงเป็น 109% ณ เดือน ก.ย.53 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 149% สำหรับธนาคารพาณิชย์ทั้ง 11 แห่ง อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลดลงเล็กน้อยโดยอยู่ที่ระดับ 65% จาก 67% เมื่อสิ้นปี 52 และต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 84% สำหรับธนาคารพาณิชย์ทั้ง 11 แห่ง

อย่างไรก็ตาม ธนาคารมีระดับเงินกองทุนที่เพียงพอดังเห็นได้จากอัตราความเพียงพอของเงินกองทุนต่อทรัพย์สินเสี่ยงที่ระดับ 16.67% และอัตราความเพียงพอของเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่ระดับ 12.27% ณ สิ้นเดือน ก.ย.53 ในขณะที่สินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้คิดเป็น 0.8 เท่าของเงินกองทุนและค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ลดลงจาก 0.9 เท่าในปี 52 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเงินกองทุนและค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่เพียงพอรองรับการขาดทุนที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้จากความเสี่ยงในอนาคตอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ

SCIB รายงานผลกำไรสุทธิ 4,147 ล้านบาทในปี 52 เกือบเท่ากับกำไรสุทธิ 4,114 ล้านบาทในปี 51 อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยและอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นรวมถัวเฉลี่ยของธนาคารปรับลดลงเล็กน้อยในปี 52 เป็น 0.98% และ 9.81% ตามลำดับ จากอัตรา 0.99% และ 10.60% ในปี 51

สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 53 ธนาคารมีผลกำไรสุทธิ 3,435 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% จากช่วงเดียวกันของปี 2552 ทำให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยและอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นรวมถัวเฉลี่ยของธนาคารที่ยังไม่ปรับเป็นตัวเลขเต็มปีอยู่ในระดับ 0.84% และ 7.63% ตามลำดับ ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 0.71% และ 7.04% ในช่วงเดียวกันของปี 52 โดยการถดถอยลงของคุณภาพสินทรัพย์ยังคงเป็นประเด็นกังวลที่สำคัญ ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของธนาคารในช่วงระหว่างการควบรวมกิจการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ