PTT คาดเบื้องต้นลงทุนโครงการ FLNG ไม่ต่ำกว่า 1 พันลบ.,เริ่มจ้างออกแบบ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday December 29, 2010 17:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิชัย พรกีรติวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บมจ. ปตท. (PTT) กล่าวว่า คณะกรรมการ ปตท.ที่ประชุมเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. ที่ผ่านมา ได้อนุมัติให้ บริษัท PTT FLNG ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง ปตท. 50% และ บมจ. ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. 50% เซ็นสัญญาความร่วมมือ (Head of Agreement) ในการออกแบบเบื้องต้นทางวิศวกรรม (Pre-Feed หรือ Front end engineering design) กับกลุ่มบริษัท Linde และ SBM จากประเทศเยอรมัน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจการทำก๊าซธรรมชาติเหลวเคลื่อนที่ลอยน้ำ หรือ Floating LNG เพื่อศึกษาในโครงการที่ ปตท.สผ.สำรวจอยู่ในแหล่งก๊าซธรรมชาติ Cash&Maple ในประเทศออสเตรเลีย

การทำ Pre-Feed นี้ จะศึกษาว่าจะใช้เงินลงทุนในโครงการ FLNG เท่าไร และมีกำลังการผลิตเท่าไร กระบวนการผลิตเป็นอย่างไร โดยคาดว่าจะศึกษาได้เสร็จภายในไตรมาส 3/54 ซึ่งในเบื้องต้นคาดว่าเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือนี้จะครอบคลุมไปถึงการให้ Linde/SBM ถือหุ้นในบริษัทใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้นในอนาคตเพื่อลงทุนทางด้าน FLNG ต่อไป

สำหรับการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG)จากต่างประเทศ เพื่อนำเข้ามาใช้ในประเทศ โดยผ่านคลังเก็บก๊าซ LNG ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ซึ่งจะก่อสร้างเสร็จในไตรมาส 1/54 โดยจะมีการทดลองนำเข้า LNG เป็นล็อตแรกเพื่อมาทดลองเดินเครื่องโรงผลิต LNG และหลังจากนั้นใน ก.ค.54 จะมีการนำเข้า LNG ในเชิงพาณิชย์เป็นล๊อตแรก โดยเป็นการซื้อจากตลาดจรเป็นสัญญาระยะสั้น ซึ่งตามแผนในปีแรกของการเริ่มผลิตจะนำเข้า LNG ประมาณ 5 แสนตันต่อปี หลังจากนั้นก็จะเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ ตามความต้องการใช้ในประเทศ

นายวิชัย กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ ปตท. มีภาระขาดทุนสะสมจากการจำหน่ายก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(เอ็นจีวี) อยู่ที่ประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีผู้ใช้เอ็นจีวีเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากตามนโยบายของรัฐบาล ส่งผลให้ปัจจุบันมีปริมาณการใช้อยู่ที่ 5,700 ตันต่อวันเพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปีนี้อยู่ที่ 3,800-3,900 ตันต่อวัน และรัฐบาลยังได้ตรึงราคาจำหน่ายไว้ที่ 8.50 บาทต่อกิโลกรัม จากต้นทุนการผลิ ตอยู่ที่กว่า 14 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ปตท. ต้องแบกรับขาดทุนอยู่ที่ประมาณ 6 บาทต่อกิโลกรัม

และคาดว่าในปี 54 ความต้องการใช้ ไม่เกิน 6 พันตัน/วัน แต่คาดอาจจะมากกว่าที่ประมาณการไว้ เพราะความต้องการใช้สูงขึ้นมาก และมีรถยนต์ใหม่ที่ผลิตรองรับการใช้เอ็นจีวีอีกกว่า 2 แสนคัน

ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลพิจารณาให้ปรับขึ้นราคาเอ็นจีวีจะสิ้นสุดมาตรการตรึงราคาในเดือนกุมภาพันธ์ 54 เพราะจะมีผลต่อการตัดสินใจขยายการลงทุนสถานีบริการ จากปัจจุบันที่มีจำนวน 460 แห่งทั่วประเทศ และตั้งเป้าจะเพิ่มเป็น 507 สถานีในปีหน้า โดยปตท.จะสนับสนุนให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการลงทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ