BANPU แผนปี 54 รุกซื้อเหมืองในอินโดฯเพิ่มใช้เป็นฐานโตพร้อมออสเตรเลีย

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday January 5, 2011 14:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.บ้านปู(BANPU)รุกขยายฐานธุรกิจเหมืองถ่านหินในปี 54 วางเป้าหมายหลักอินโดนีเซีย-ออสเตรเลีย พุ่งเป้าซื้อเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซียเพิ่มเติมอีกแห่งในปีนี้ ขนาดปริมาณสำรอง 20 ล้านตันขึ้นไป วางงบลงทุนในอินโดฯทั้งซื้อใหม่-ปรับปรุงรวม 120 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การลงทุนเหมืองในจีนจะหยุดการขยายฐานหลังใส่เงินลงทุนในเหมืองเกาเหอให้ครบตามแผนงาน เหตุนโยบายรัฐบาลไม่เอื้อ

นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BANPU ให้สัมภาษณ์กับ "อินโฟเควสท์"ว่า การเข้าซื้อกิจการเหมืองถ่านหิน Centennial Coal ในออสเตรเลีย ช่วยปูทางให้ BANPU ก้าวสู่บริษัทชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย มีธุรกิจเหมืองถ่านหินเป็นธุรกิจหลักมีสัดส่วน 85% ของมูลค่าทรัพย์สินของบริษัทที่มีกว่าแสนล้านบาท ตามที่กำหนดไว้ในแผนธุรกิจ 5 ปี(54-58)

ส่วนที่เหลือ 12% เป็นธุรกิจโรงไฟฟ้า จากโครงการหงสาในลาว (ถือหุ้น 40%)และ โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี (ถือหุ้น 50%)เป็นหลัก และอีก 2-3% เป็นธุรกิจพลังงานทดแทน ทั้งเอทานอลและพลังงานลม

บริษัทยังคงมุ่งเน้นกิจการเหมืองถ่านหินในที่อินโดนีเซีย เพื่อขยายสัดส่วนที่มีในปัจจุบันประมาณ 33-34% จากเดิมมากกว่า 40% ของสินทรัพย์ หลังจากสัดส่วนเหมืองถ่านหินในออสเตรเลียเพิ่มขึ้นมาเป็น 35-36% จากเดิมอยู่ต่ำกว่า 10% ซึ่งบริษัทเชื่อว่าจะช่วยทำให้ธุรกิจแข็งแรงและเติบโตได้อย่างมั่นคงตามยุทธศาสตร์ของ BANPU

ส่วนที่เหลือในจีน มีสัดส่วน 20% ซึ่งต่อไปคงจะหยุดขยายการลงทุนเหมืองถ่านหินในจีน เนื่องจากนโยบายรัฐบาลจีนไม่ส่งเสริมให้ต่างชาติเข้าไปลงทุนในธุรกิจเหมือง ขณะที่เหมืองในไทยสัดส่วน 10% คาดว่าทั้งสองแหล่งคงเท่าเดิม

นายชนินท์ กล่าวว่า แผนงานสำคัญในปี 54 บริษัทจะรุกเข้าซื้อเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซียเพิ่มเติม ขนาดปริมาณสำรอง 20 ล้านตันขึ้นไป เพื่อเพิ่มปริมาณสำรองและขยายอายุการผลิตไปเป็น 15-20 ปี จากปัจจุบันที่มีอยู่ 12.3 ปี หลังจากปีก่อนไม่สามารถปิดการเจรจาได้

"การขยายธุรกิจยังคงเน้นที่อินโดนีเซีย เพราะปีที่แล้วเราซื้อจากอินโดฯ ไม่ได้เราพลาดไป 2-3 ดีลซึ่งเป็นเรื่องปกติ เพราะฉะนั้นในปี 2011 (2554) จะหาเข้ามาเติม ส่วนใหญ่จะไม่ใหญ่ เป็นปริมาณสำรองถ่านหินที่เพิ่มขึ้น หรือ อาจเป็นแหล่งที่มีการผลิตอยู่แล้วบ้าง ซึ่งถ้าเราเข้าไปได้คงเข้าไปปรับปรุง"นายชนินท์ กล่าวกับ "อินโฟเควสท์"

ณ สิ้น ก.ย.53 BANPU มีปริมาณสำรองถ่านหิน 277 ล้านตัน หรือในแง่การผลิตจากปีนี้ไปจะผลิตได้ 12.3 ปี แต่บริษัทมีความต้องการเพิ่มระยะเวลาผลิตไปเป็น 15-20 ปี โดยบริษัทตั้งงบลงทุนในปี 54 ที่อินโดนีเซียจำนวน 120 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งรวมไปถึงการพัฒนาปรับปรุงเหมืองเดิมที่มีอยู่ ได้แก่ ทรูบาอินโด ,บารินโต ซึ่งจะทำให้ผลิตถ่านหินได้เพิ่มอีกประมาณ 1.2 ล้านตัน

ทั้งนี้ งบการลงทุนตามแผน 6 ปี (53-48 ) วงเงินรวม 466 ล้านเหรียญสหรัฐ ใช้ไปแล้ว 75 ล้านเหรียญสหรัฐในอินโดนีเซีย ทำให้มีงบบงทุนเหลือ 391 ล้านเหรียญสหรัฐสำหรับปี 54-58 หรือในช่วง 5 ปีนี้

"Growth ของมูลค่ากิจการ Enterprise value เราคิดว่าเติบโตประมาณ 13% ต่อปี ในช่วงแผน 5 ปีนี้จะเน้นเรื่อง operation ที่จะทำให้ทรัพย์สินที่มีอยู่ สามารถสร้างรายได้ดีขึ้น โดยสัดส่วนของอินโดนีเซียจะมากกว่าออสเตรเลีย"ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BANPU กล่าว

ปัจจุบัน ในอินโดนีเซีย มีอยู่ 5 เหมือง ส่วนในออสเตรเลียมี 10 เหมืองที่ดำเนินการอยู่ และมีอีก 4 เหมืองที่เป็นโครงการในอนาคต

*พับแผนขยายเหมืองในจีน เหตุนโยบายรัฐไม่เอื้อ

นายชนินท์ กล่าวว่า การลงทุนเหมืองถ่านหินในจีนคาดว่าคงจะไม่มีการขยายเพิ่มเติมจากที่มีอยู่อีกแล้ว เพราะรัฐบาลจีนมีนโยบายจำกัดการลงทุนเหมืองของต่างชาติ

"รัฐบาลจีนมีนโยบาย ค่อนข้างจำกัดการพัฒนาแหล่งถ่านหินหรือแหล่งพลังงาน เรามองดูแล้ว การเติบโตที่จะทำในส่วนใหม่อาจจะยากขึ้น ...การลงทุนในจีนคงต้องมีการทบทวนหลังจากที่นโยบายรัฐบาลจีน คือเขาไม่ส่งเสริมให้ต่างชาติลงทุนในถ่านหินเพิ่มขึ้น ดังนั้นในแผน 5 ปี BANPU คงไม่มีแผนการขยายการลงทุน" นายชนินท์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม บริษัทยังจะเดินหน้าลงทุนเหมืองเกาเหอ (BANPU ถือหุ้น 47%) ที่อยู่ระหว่างรอการพัฒนา ซึ่งล่าช้ากว่าแผนเล็กน้อย โดยคาดว่าจะเริ่มผลิตกลางปีหน้า และคาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังจะผลิตได้ 1.5 ล้านตัน จากนั้นในปี 56 จะผลิตเต็มที่ 6 ล้านตัน ซึ่งบริษัทจะใส่เงินลงทุนก้อนสุดท้าย 22 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วงต้นปี 54 เป็นส่วนทุนครบตามโครงการ

ทั้งนี้ BANPU มีการลงทุนเหมือง 3 แห่งที่จีนได้แก่ ต้าหนิง เหอปี้ และ เกาเหอ รวมการผลิต 3.5 ล้านตันในปี 54 และมีโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก 3 แห่ง ได้แก่ ล่วนหนาน, เจิ้นติ้ง และ โจวผิง

*คาดรายได้ปี 54 โตไม่ต่ำกว่า 40% ปริมาณผลิต-ราคาขายสูงขึ้น

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BANPU คาดว่า ผลประกอบการของบริษัทในแง่รายได้จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 40% จากปี 53 ที่คาดว่าจะมีรายได้ถึง 6 หมื่นล้านบาท จากปริมาณผลิตและขายถ่านหินที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 44 ล้านตัน จากปีก่อนที่ 22.5 ล้านตัน โดยในปีนี้ปริมาณถ่านหินจากออสเตรเลียจะเข้ามาสมทบ 14.5 ล้านตัน ขณะที่เหมืองในอินโดนีแซียเพิ่มเป็น 26 ล้านตัน จากปีก่อนที่พลาดเป้าไปจาก 23 ล้านตัน มาอยู่ที่ 22.5 ล้านตัน และมีปริมาณถ่านหินในจีนอีก 3.5 ล้านตัน

รวมทั้งราคาขายถ่านหินปี 54 คาดว่าได้เกินกว่า 80 เหรียญสหรัฐ/ตัน สูงกว่าปี 53 ที่ขายได้เกิน 73 เหรียญสหรัฐ/ตัน ซึ่งได้ขายล่วงหน้าไปแล้ว 40% ที่ราคาประมาณ 80 เหรียญสหรัฐ/ตันแล้ว โดยคาดว่าครึ่งแรกของปี 54 ตลาดอาจจะตึงตัว และอ่อนตัวลงในครึ่งปีหลัง แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับปริมาณผลผลิต

"ปีหน้าถึงไตรมาส 2 จริงๆ (ราคาถ่านหิน)อาจจะลดต่ำกว่านี้ก็ได้ เราไม่มีทางรู้ ถ้าเราเฉลี่ยไปกับคุณภาพของเราแล้ว คาดว่าเราจะทำได้มากกว่า 80 เหรียญ/ตัน"นายชนินท์ กล่าว

แต่คาดว่ากำไรในปี 54 จะไม่ดีมากเพราะมีดอกเบี้ยจ่าย,ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย จากการเข้าซื้อกิจการเหมืองถ่านหิน Centennial ในออสเตรเลียเป็นจำนวนมาก แม้ว่าปี 54 จะรับรู้รายได้กำไรจาก Centennial ได้เต็มปี โดย 2 งวดปีบัญชี มีกำไรประมาณ 50-70 เหรียญออสเตรเลียต่อปี

นายชนินท์ กล่าวว่า ในช่วง 3 ปีนี้ สัดส่วนรายได้จากอินโดนีเซียจะมีมากว่าออสเตรเลีย เนื่องจากผลผลิตถ่านหินส่วนใหญ่ในออสเตรเลียกว่า 70% ได้ทำสัญญาขายให้กับโรงไฟฟ้าไปแล้ว เหลือสัดส่วนอีก 30% ที่ส่งออกในราคาตามกลไกตลาด อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวรายได้ในออสเตรเลียจะดีขึ้นหากหมดสัญญาเก่าไปแล้ว ก็จะสามารถปรับราคาขายได้

ส่วนหนี้สินของบริษัท ปัจจุบันมีเงินกู้อยู่ 9 หมื่นล้านบาท อายุเฉลี่ยกว่า 4 ปี อัตราส่วนหนี้สินสุทธิ(Net D/E)เท่ากับ 1 เท่า

ในปี 54 คาดว่าจะออกหุ้นกู้แพื่อปรับโครงสร้างหนี้บริษัทให้มีอายุยาวขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับการลงทุน คาดว่าจะออกเสนอขายหุ้นกู้อายุ 5-10 ปี โดยอาจเป็นบาทบอนด์ แต่สุดท้ายจะสวอปเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ บริษัทได้ขอมติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นไว้แล้วในการออกหุ้นกู้วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท อายุไม่เกิน 15 ปี

*ลงทุนพลังงานทดแทนกว่า 3 พันลบ.ในช่วง 2-3 ปีนี้

นายชนินท์ กล่าวว่า บริษัทยังมีโครงการพลังงานใหม่หรือพลังงานทดแทน ซึ่งที่ผ่านมาศึกษามาหลายปี และมีแผนมา 2 ปีแล้วที่จะลงทุน 2-3% ของสินทรัพย์รวม หรือประมาณกว่า 3 พันล้านบาทภายในปี 58

เบื้องต้นบริษัทได้ตัดสินใจลงทุนแล้วร่วมกับบริษัท มิตรผล จำกัด เพื่อทำไร่มันสำปะหลังที่ จ.สุรินทร์ โดย BANPU เข้าถือหุ้น 30% ขั้นต่อไปจะไปทำโครงการเอทานอล แต่ขนาดโครงการยังไม่ได้กำหนด

อีกส่วนเป็นโครงการพลังงานลม ซึ่งได้มีการทดสอบใน 3 จุดของประเทศไทยในพื้นที่ภาคอีสานและภาคใต้ ซึ่งเริ่มทดสอบได้ไม่นาน โดยจะใช้เวลาทดสอบพลังลมเป็นระยะเวลา 1 ปี ดังนั้น ภายในปี 54 คงยังไม่ได้สรุปเรื่องนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ