บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศอันดับเครดิตให้แก่หุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาทของบมจ.เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์(AP) ที่ระดับ “BBB+" เท่ากับอันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้ปัจจุบันของบริษัทที่คงเดิมที่ระดับ “BBB+" ด้วยแนวโน้ม “Positive" หรือ “บวก"
อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงผลงานในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยที่ประสบความสำเร็จ ตลอดจนตราสินค้าที่ได้รับการยอมรับในตลาดทาวน์เฮ้าส์และคอนโดมิเนียมในเมือง รวมถึงความยืดหยุ่นในการบริหารงานซึ่งทำให้บริษัทสามารถปรับเปลี่ยนและพัฒนาโครงการให้เป็นไปตามแนวโน้มของอุตสาหกรรมได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความไม่แน่นอนทางการเมือง รวมทั้งลักษณะของธุรกิจที่มีความผันผวน และการแข่งขันในการซื้อที่ดินที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
แนวโน้มอันดับเครดิต “Positive" หรือ “บวก" สะท้อนถึงความแข็งแกร่งที่เพิ่มขึ้นของบริษัทในตลาดคอนโดมิเนียมอันเนื่องมาจากความสำเร็จและสัดส่วนกำไรที่เพิ่มขึ้นของโครงการที่ผ่านมา ทั้งนี้ อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทสามารถรักษาอัตราการเติบโตของผลประกอบการที่ดีเอาไว้ได้โดยที่อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนยังคงอยู่ที่ระดับ 45%-50%
ทริสเรทติ้งรายงานว่า AP ก่อตั้งในปี 2533 โดยนายอนุพงษ์ อัศวโภคิน และนายพิเชษฐ วิภวศุภกร ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ถือหุ้นรวมกันประมาณ 1 ใน 3 ของบริษัท จุดแข็งด้านการตลาดเป็นผลมาจากการที่บริษัทเป็นผู้ริเริ่มและผู้นำในตลาดทาวน์เฮาส์ใจกลางเมือง (บ้านกลางกรุงและบ้านกลางเมือง)
ทั้งนี้ ความแข็งแกร่งทางธุรกิจสะท้อนถึงความเป็นหนึ่งในผู้นำด้านตลาดทาวน์เฮ้าส์และรองลงมาคือคอนโดมิเนียมโดยเฉพาะในย่านกลางเมือง บริษัทแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการปรับเปลี่ยนรูปแบบโครงการท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของพฤฒิกรรมผู้บริโภค โดยสินค้าของบริษัทเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้ซื้ออายุน้อย
นอกจากนี้ บริษัทยังมีความเชี่ยวชาญในการเลือกทำเลที่ดีสำหรับพัฒนาโครงการ ในช่วงก่อนปี 2548 ยอดขายทาวน์เฮ้าส์ของบริษัทคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 80% ของยอดขายรวม และตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ยอดขายคอนโดมิเนียมได้กลายมาเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในการเติบโตของบริษัทด้วยสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจาก 35% ของยอดขายรวมเป็น 40%-50% ในช่วงปี 2551-2552
ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553 บริษัทมีมูลค่าโครงการคงเหลือพร้อมขายประมาณ 21,891 ล้านบาท โดยเป็นคอนโดมิเนียม 40% ในขณะที่ทาวน์เฮ้าส์และบ้านเดี่ยวมีมูลค่าคิดเป็น 29% และ 31% ตามลำดับ ทั้งนี้ ราคาขายเฉลี่ยต่อหน่วยในโครงการทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 5 ล้านบาท
ยอดขายที่ยังไม่ได้รับรู้เป็นรายได้ (Backlog) ในโครงการคอนโดมิเนียมอยู่ในระดับสูงที่ 20,216 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553 โดยโครงการคอนโดมิเนียมที่มีอยู่ทั้งหมด (รวมยอดขายที่ยังไม่ได้รับรู้เป็นรายได้และมูลค่าโครงการคงเหลือ) น่าจะช่วยสร้างกระแสรายได้ให้แก่บริษัทในช่วงระหว่างปี 2554-2556 ที่ระดับปีละประมาณ 6,500-12,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจัยดังกล่าวน่าจะช่วยสร้างความแน่นอนของกระแสเงินสดในระยะปานกลางและใช้เป็นแหล่งเงินลงทุนสำหรับการพัฒนาโครงการใหม่ในอนาคต
ทริสเรทติ้งกล่าวว่าบริษัทมีรายได้เกิน 10,000 ล้านบาทเป็นครั้งแรกในปี 2552 เป็นรายได้สูงสุดอันดับ 4 ในกลุ่มบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ทั้งหมด ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาระดับรายได้ดังกล่าวเอาไว้ได้ในระยะปานกลางจากการมียอดขายคอนโดมิเนียมที่ยังไม่ได้รับรู้รายได้จำนวนมากและการมีสถานะที่แข็งแกร่งในตลาดทาวน์เฮ้าส์ในเมือง บริษัทได้รับประโยชน์จากมาตรการด้านภาษีของภาครัฐโดยมีอัตราส่วนกำไรในระดับที่น่าพอใจและมั่นคง
ทั้งนี้ อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ 21.8% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 อัตรา ส่วนกำไรที่อยู่ในระดับค่อนข้างคงที่สะท้อนถึงความมีประสิทธิภาพของบริษัทในการควบคุมต้นทุนและการตั้งราคาขาย ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนกำไรดังกล่าวจะปรับลดลงประมาณ 3%-4%
หลังจากที่มาตรการด้านภาษีส่วนใหญ่ของภาครัฐสิ้นสุดลงในปี 2553 และการแข่งขันในตลาดเริ่มกลับมามีความรุนแรงจากความคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะเติบโตสูงขึ้น การเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ ๆ ที่มีความสม่ำเสมอมากขึ้นน่าจะช่วยให้บริษัทมีกระแสเงินสดจากโครงการที่แล้วเสร็จเพียงพอที่จะใช้ลงทุนในโครงการใหม่ ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันในเรื่องการเพิ่มภาระหนี้ลงไปได้ อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนคาดว่าจะแกว่งตัวในกรอบที่แคบประมาณ 45%-50% ในระยะปานกลาง เงินทุนจากการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 1,300 ล้านบาทในช่วงปี 2549-2550 มาอยู่ที่ 2,025 ล้านบาทในปี 2552 และ 1,517 ล้านบาทในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2553 ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงขยายธุรกิจด้วยความระมัดระวังต่อไปโดยการรักษาสมดุลระหว่างเงินลงทุนกับกระแสเงินสดรับ
ภาวะตลาดที่อยู่อาศัยของไทยค่อนข้างผันผวนในปี 2552 ซึ่งเป็นผลมาจากความไม่มีเสถียรภาพของการเมืองภายในประเทศและวิกฤติการณ์ทางการเงินทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ภาวะตลาดเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 และอยู่ในสภาวะทรงตัวในปี 2553 ผู้ประกอบการรายใหญ่ยังคงมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หลังจากมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจในปี 2553 ผู้ประกอบการรายใหญ่เกือบทั้งหมดก็มีแผนการขยายธุรกิจเชิงรุกในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ดังนั้น การซื้อที่ดินในทำเลที่เหมาะสมจึงมีแนวโน้มที่จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น ในขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านภาษีของรัฐบาลส่วนใหญ่ได้สิ้นสุดลงในปี 2553
ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าความต้องการที่อยู่อาศัยจะค่อย ๆ ฟื้นตัวตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ