BBL บวก 3.43% โบรกฯเชียร์"ซื้อ"มองบวกต่อแนวโน้ม NIM จากปรับขึ้นดบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday January 13, 2011 10:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หุ้น BBL ราคาวิ่งขึ้น 3.43% มาอยู่ที่ 166 บาท เพิ่มขึ้น 5.50 บาท มูลค่าซื้อขาย 557.42 ล้านบาท เมื่อเวลา 10.39 น. โดยเปิดตลาดที่ 162.50 บาท ราคาปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 167 บาท และราคาปรับตัวลงต่ำสุดที่ 162.50 บาท

บล.เอเชีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ฯแนะ"ซื้อ"หุ้น ธนาคารกรุงเทพ(BBL)โดยกำหนด Fair value ปี 2554 ที่ระดับ PBV 1.66 เท่า คือ 203 บาท ทั้งนี้มีมุมมองบวกต่อแนวโน้ม NIM ของ BBL ใน 1Q54 จากการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก-กู้ครั้งนี้ เนื่องจากเป็นสิ่งที่อยู่ในความคาดหมายอยู่แล้วเกี่ยวกับการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยในระบบเข้าสู่ช่วงขาขึ้นอย่างสมบูรณ์

แม้จะเป็นการสร้างความกังวลจากการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ (สัดส่วนถึง 44% ของเงินฝากรวม) ขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 20 ปี ซึ่งจะทำให้ต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายของ BBL เพิ่มขึ้นในทันที แต่เนื่องจากการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตราที่สูงกว่าเท่าตัวของอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นหรือเพิ่มขึ้นถึง 0.25-0.375% ทำให้การเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยรับยังช่วยชดเชยการเพิ่มขึ้นของต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายได้

อีกทั้งโครงสร้างสินเชื่อของ BBL ที่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวในสัดส่วนถึง 66% ของสินเชื่อรวม ทำให้ได้รับประโยชน์จากการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในสัดส่วนที่สูงกว่าการเพิ่มขึ้นของต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายที่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ซึ่งจะทำให้ผลกระทบสุทธิต่อ NIM ใน 1Q54 ยังเป็นบวก ซึ่งจากการศึกษาของฝ่ายวิจัยพบว่าทุก 25bp ที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก-กู้ทุกประเภทปรับเพิ่มขึ้นในอัตราที่เท่ากัน จะทำให้ NIM ของ BBL ปรับเพิ่มขึ้น 2.3bp จากสมมติฐานปัจจุบันที่ 3.11% ซึ่งได้กำหนดให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก-กู้เพิ่มขึ้นในระดับ 50bp เท่ากันแล้ว

ด้านบล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส(ประเทศไทย)ระบุในบทวิเคราะห์ฯแนะ"ซื้อ"หุ้น BBL ให้ราคาพื้นฐาน 187 บาท โดยจุดเด่น คือ งบดุลที่แข็งแกร่ง, NPL Coverage ratio สูงที่สุดในกลุ่ม และได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเพราะมีเครือข่ายสาขากว้างขวางมาก

แม้ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ เงินฝากประจำ และเงินกู้ในรอบนี้ ไม่ได้ทำให้ NIM เพิ่มขึ้นมากนัก แต่บ่งชี้ว่าการปล่อยสินเชื่อในปี 54 จะเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง ทำให้ธนาคารต้องมาระดมทุนผ่านบัญชีออมทรัพย์มากขึ้น

ขณะเดียวกัน BBL ก็ได้เปรียบ KBANK และ KTB หากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากเท่า ๆ กัน เพราะสัดส่วนเงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวันของ BBL น้อยกว่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ