SCCCคาดรับอานิสงส์ปริมาณใช้ปูนในปท.ปีนี้โต 7-10%จาก 25-26 ล้านตันปี 53

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday January 20, 2011 15:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฟิลิป อาร์โต้ กรรมการผู้จัดการและประธานคณะผู้บริหาร บมจ.ปูนซีเมนต์นครหลวง (SCCC) คาดปี 54 ตลาดปูนซิเมนต์ในประเทศจะเติบโต 7-10% จากปีก่อนที่มีปริมาณการใช้ 25-26 ล้านตัน โดยปัจจัยหนึ่งประเมินว่ายังจะเป็นการลงทุนของภาครัฐที่จะมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ซึ่งจะมีการเริ่มใช้ปูนซิเมนต์ในปีนี้ ส่วนตลาดบ้านและคอนโดฯที่เป็นตัวผลักดันให้ตลาดปี 53 เติบโตในรอบหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะคอนโดฯมีการเติบโตสูงกว่าความต้องการจริง ก็จะเริ่มเข้าสู่รูปแบบการเก็งกำไร

"ปีนี้คาดว่าปริมาณการใช้ปูนในประเทศจะกลับไปสูงสุดเหมือนปี 2549 เพราะอัตราการเติบโตเศรษฐกิจยังโตต่อเนื่องเพราะมีการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ มองแนวโน้มปีนี้ทิศทางยังเป็นบวกต่ออุตสาหกรรม"นายฟิลิป กล่าว

สำหรับการลงทุนใหม่นั้น ภายในปี 54 คาดว่าจะตัดสินใจได้ว่าจะมีการลงทุนก่อสร้างโรงปูนซิเมนต์ที่ประเทศกัมพูชาหรือไม่ โดยหากสร้างก็มีกำลังการผลิต 1-1.5 หมื่นล้านตัน เพียงพอกับตลาดภายในประเทศกัมพูชา

นอกจากนั้น บริษัทยังสนใจการเข้าลงทุนโรงปูนซิเมนต์ในนิคมอุตสาหกรรมทวายของพม่า แต่คาดว่ายังต้องใช้เวลาในการศึกษาอย่างน้อย 1 ปีถึง 1 ปีครึ่ง เนื่องจากหากบริษัทเข้าไปลงทุนก็จำเป็นต้องหาพันธมิตร และศึกษารายละเอียดให้ดีก่อน แต่บริษัทเชื่อว่าในแผนระยะยาว 5 ปีจะเห็นการก่อสร้างโรงปูนซิเมนต์ในประเทศพม่าหรือกัมพูชาแห่งใดแห่งหนึ่ง

ด้านน.ส.จันทนา สุขุมานนท์ รองประธานคณะผู้บริหาร ด้านการตลาดและการขาย SCCC กล่าวว่า ในช่วงต้นปี 54 พบว่ายอดขายปูนซิเมนต์ในประเทศยังไม่เติบโตมากนัก ขณะที่ช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนๆ ปกติจะเป็นช่วงที่ยอดขายปูนดี สาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะมาจากภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง หน้าฝนมีระยะเวลายาวนานและน้ำท่วมต่อเนื่องทั่วทุกภูมิภาค จนกระทั่งปัจจุบันภาคใต้ก็ประสบปัญหาน้ำท่วม ขณะที่ภาคอีสานซึ่งเป็นตลาดหลักของ SCCC กำลังประสบภาวะภัยหนาว ทำให้ความต้องการใช้ปูนเพื่อการก่อสร้างล่าช้าออกไป

ส่วนราคาขายปูนบริษัทยังไม่ได้มีการปรับราคาเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะยังไม่ถึงเพดานสูงสุดที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดที่ 2,350 บาท/ตัน แต่ยอมรับว่าปูนถุงขายได้ราคาดีขึ้น เนื่องจากบริษัทให้ส่วนลดกับผู้ค้าส่งน้อยลง

น.ส.จันทนา กล่าวถึงต้นทุนพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งน้ำมันและถ่านหินว่า ส่งผลกระทบต่อบริษัท เพราะต้นทุนพลังงานคิดเป็น 70% ของต้นทุนทั้งหมด และยังมีผลกระทบด้านขนส่งที่มีต้นทุนเพิ่มขึ้น แม้ว่าบริษัทจะมีการใช้บริษัทอื่นเป็นผู้ขนส่งก็ตาม "ต้นทุนของการผลิตปูนในประเทศปรับขึ้นสูงมากจากราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้นทุกตัว แต่เราก็ไม่สามารถขยับราคาได้โดยเพดานขั้นสูงที่กำหนด 2,350 บาท ไม่ได้มีการปรับเพิ่มขึ้นเลย" น.ส.จันทนา กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ