ทริสฯ จัดอันดับเครดิตองค์กร TRT ระดับ “BBB+" แนวโน้ม “Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 25, 2011 11:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศจัดอันดับเครดิตองค์กรให้แก่ บมจ.ถิรไทย(TRT) ที่ระดับ “BBB+" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าภายในประเทศ ตลอดจนความสามารถในการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังและหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายที่มีกำลังไฟฟ้าและแรงดันไฟฟ้าที่หลากหลาย รวมทั้งฐานะการเงินที่แข็งแกร่งตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ในขณะที่ความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทได้รับแรงหนุนจากสัญญาการให้ใช้ลิขสิทธ์ของ Siemens Transformers Austria GmbH & Co KG จากประเทศออสเตรียซึ่งช่วยสนับสนุนในเรื่องการพัฒนาการออกแบบและเป็นแหล่งอ้างอิงในตลาดเป็นหลัก

ในการพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงแนวโน้มการเติบโตของความต้องการใช้ไฟฟ้า ศักยภาพการเติบโตในตลาดส่งออกหลายแห่ง และอุปสรรคที่ค่อนข้างสูงในการเข้าสู่ตลาดหม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากความเสี่ยงที่รายได้ประมาณ 1 ใน 3 ของบริษัทต้องพึ่งพาลูกค้าในภาครัฐวิสาหกิจด้านไฟฟ้า รวมถึงการพึ่งพาตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศสำหรับตลาดส่งออก ความต้องการแหล่งอ้างอิงในการเข้าตลาดใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังที่มีกำลังไฟฟ้าและแรงดันไฟฟ้าสูง และการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถรักษาความสามารถในการทำกำไรเอาไว้ได้แม้จะต้องเผชิญกับคู่แข่งหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังที่มีชื่อเสียงในตลาดโลกและการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายในประเทศ บริษัทควรสำรองสภาพคล่องทางการเงินเอาไว้ให้เพียงพออยู่เสมอ โดยที่อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนไม่ควรจะอ่อนตัวลงเกินกว่าระดับ 50% แม้จะมีการลงทุนในอนาคต ทั้งนี้ ในกรณีที่บริษัทจะออกหุ้นกู้ไม่มีประกันในอนาคต อันดับเครดิตของหุ้นกู้มีโอกาสที่จะอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรหากบริษัทมีอัตราส่วนภาระหนี้ที่มีหลักประกันเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด

TRT ก่อตั้งในปี 2530 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในเดือนพฤษภาคม 2549 นายสัมพันธ์ วงษ์ปาน ซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ และคณะผู้บริหารหลักเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในสัดส่วนรวมกัน 39% ณ เดือนกรกฎาคม 2553

บริษัทเป็นผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้ารายเดียวในประเทศซึ่งผลิตทั้งหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังและหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย ผลิตภัณฑ์ของบริษัทครอบคลุมทั้งหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังที่มีกำลังไฟฟ้าตั้งแต่ 5-300 เมกะโวลต์แอมแปร์ที่แรงดันไฟฟ้าสูงสุด 230 กิโลโวลต์และหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายที่มีกำลังไฟฟ้าตั้งแต่ 1-100 เมกะโวลต์แอมแปร์ที่แรงดันไฟฟ้าสูงสุด 36 กิโลโวลต์

รายได้รวมของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 มาจากยอดขายหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่าย 49% หม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง 46% และรายได้จากการให้บริการอีก 5% ฐานลูกค้าของบริษัทประกอบด้วยกลุ่มรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้า (36% ของรายได้รวม) บริษัทเอกชน (30%) และลูกค้าภาคการส่งออก (29%)

บริษัทเป็น 1 ใน 3 ของผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดโดยประมาณคิดเป็น 1 ใน 3 ของตลาดหม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง การแข่งขันในตลาดหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังมีความรุนแรงน้อยกว่าหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายเนื่องจากรูปแบบทางวิศวกรรมที่มีความซับซ้อนมากกว่า กลุ่มผู้ใช้หม้อแปลงไฟฟ้ากำลังเป็นกลุ่มลูกค้าในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงหรือธุรกิจที่ต้องใช้หม้อแปลงไฟฟ้าที่มีการออกแบบทางวิศวกรรมโดยเฉพาะ ดังนั้น ความน่าเชื่อถือและคุณภาพจึงเป็นคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับหม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง โดยผลงานในอดีตและแหล่งอ้างอิงจึงได้รับการกำหนดให้เป็นเงื่อนไขที่จำเป็น ในตลาดหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายมีการแข่งขันสูงในด้านราคาเนื่องจากผลิตภัณฑ์มีความซับซ้อนน้อยกว่าและมีผู้ผลิตจำนวนมาก

สำหรับตลาดในประเทศนั้น รัฐวิสาหกิจด้านไฟฟ้าเป็นผู้ใช้หม้อแปลงไฟฟ้าโดยตรงและเป็นผู้ใช้รายสำคัญเนื่องจากเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าและระบบสายส่งของประเทศ โดยปกติรัฐวิสาหกิจด้านไฟฟ้าจะจัดสรรงบประมาณประจำปีเพื่อพัฒนาสถานีไฟฟ้าแรงสูงและสถานีไฟฟ้าย่อย รวมทั้งปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบสายส่ง ผู้ใช้หม้อแปลงไฟฟ้าอื่น ๆ เป็นกลุ่มลูกค้าโรงงาน อุตสาหกรรมที่หม้อแปลงไฟฟ้าเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในโรงงาน ดังนั้น ความต้องการในอุตสาหกรรมหม้อแปลงไฟฟ้าจึงขึ้นอยู่กับ การใช้ไฟฟ้าด้วยส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ความต้องการหม้อแปลงไฟฟ้าถือว่าค่อนข้างผันผวนตามนโยบายการลงทุนของทั้งภาครัฐ และเอกชน

รายได้ของ TRT เติบโตจาก 1,409 ล้านบาทในปี 2550 เป็น 2,106 ล้านบาท และ 2,223 ล้านบาทในปี 2551 และปี 2552 ตามลำดับ การเติบโตเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจที่ดีในปี 2550 และปี 2551 เนื่องจากยอดขายหม้อแปลงไฟฟ้าโดยปกติจะปรากฏผลประมาณ 6-9 เดือนหลังจากได้รับคำสั่งซื้อเพราะเป็นสินค้าที่มีระยะเวลาในการผลิต ยอดรับคำสั่งซื้อมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 1,531 ล้านบาทในปี 2549 เป็น 2,198 ล้านบาทในปี 2550 และ 2,381 ล้านบาทในปี 2551

อย่างไรก็ตาม ยอดรับคำสั่งซื้อลดลงเหลือ 1,305 ล้านบาทในปี 2552 คิดเป็นสัดส่วนที่ลดลง 45% จากปีที่แล้วซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤติการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกตั้งแต่ปลายปี 2551 และการประกาศระงับโครงการอุตสาหกรรมในเขตมาบตาพุดเมื่อเดือนกันยายน 2552 จากสภาวะที่คลุมเครือดังกล่าวมีผลทำให้บริษัทมียอดรับคำสั่งซื้อในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2553 ลดลง 4.6 % เป็น 1,008 ล้านบาทเมื่อเทียบกับ 1,057 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2552

รายได้รวมใน 9 เดือนแรกของปี 2553 จึงลดลง 26% เมื่อเทียบกับปีก่อน คิดเป็น 1,132 ล้านบาท บริษัทมียอดขายที่รอการส่งมอบ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553 คิดเป็น 822 ล้านบาท โดยผลประกอบการเต็มปีในปี 2553 มีแนวโน้มที่จะอ่อนตัวลงกว่าปี 2552 แม้ว่ายอดรับคำสั่งซื้อและยอดขายจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นบ้างในไตรมาสที่ 4 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงต้นปี 2553

ผลประกอบการของบริษัทปรับตัวดีขึ้นจากปี 2550 เป็นต้นมาเนื่องจากการปรับปรุงการบริหารจัดการต้นทุน ทั้งนี้ อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทอยู่ในช่วง 14%-16% ตั้งแต่ปี 2550 เพิ่มขึ้นจาก 10%-13% ในช่วงปี 2545-2549 เงินทุนจากการดำเนินงานค่อย ๆ ปรับเพิ่มขึ้นจาก 116 ล้านบาทในปี 2546 เป็น 335 ล้านบาทในปี 2552 และคงอยู่ที่ 190 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553

อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทค่อนข้างผันผวนเนื่องจากบริษัทใช้เงินกู้ยืมระยะสั้นในการดำเนินธุรกิจ โดยเงินกู้ยืมระยะยาวปรับลดลงเรื่อย ๆ ตามกำหนดการชำระคืน อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ในระดับต่ำกว่า 50% ในช่วงปี 2550 จนถึงช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 กระแสเงินสดอยู่ในระดับที่น่าพอใจโดยอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมอยู่ที่ระดับ 40%-50% และอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ที่ 8-9 เท่าในช่วงปี 2552 จนถึงช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2553


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ