(เพิ่มเติม) รมว.คลัง เผยตลาดหุ้นไทยวันนี้ร่วงตามภูมิภาค สะท้อนความกังวลกรณีอียิปต์

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday January 31, 2011 13:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ระบุว่า ตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลดลงวันนี้เป็นการปรับตามภูมิภาค ที่สะท้อนความกังวลต่อสถานการณ์ในอียิปต์ เนื่องจากเกรงจะลุกลามไปยังประเทศอื่นๆ ในตะวันออกกลาง

ล่าสุดเมื่อเวลา 11.35 น. ดัชนี SET ปรับลงมาที่ 967.12 จุด ลดลง 14.71 จุด (-1.50%)

รมว.คลัง กล่าวว่า นักลงทุนมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาในอียิปต์ และตูนิเซีย ที่อาจจะลุกลามไปยังประเทศอื่นที่อาจส่งผลต่อการผลิตน้ำมันและราคาน้ำมัน ซึ่งความผันผวนต่อราคาน้ำมันย่อมส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตามเชื่อมั่นว่า พื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่มีความเข้มแข็ง ทั้งจากระดับหนี้สาธารณะที่ปรับลดลงต่อเนื่อง ระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ระดับสูง และปีนี้ที่คาดว่าไทยยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 10,000 ล้านดอลลาร์ จึงเชื่อมั่นว่าจะสามารถรองรับผลกระทบจากภายนอกได้

"หวังว่าประชาชนในอียิปต์และตูนีเซียจะแก้ปัญหาของตัวเองได้อย่างสันติเพื่อไม่ให้มีความเสียหายต่อประชาชน ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศตัวเอง และระบบเศรษฐกิจโลก แต่ปัจจุบันความกังวลจากปัญหาของ 1 ประเทศว่าจะลุกลามไปประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศตะวันออกกลาง ส่วนไทยหากเกิดกรณีนี้ขึ้น ยังเชื่อมั่นความความเข้มแข็งของเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยจะเป็นภูมิคุ้มกันปัญหาได้ในระดับหนึ่ง" รมว.คลัง กล่าว

ทั้งนี้รัฐบาลยังมีหลายปัจจัยที่ต้องเร่งเข้ามาแก้ปัญหาทั้งเรื่องของราคาสินค้า ที่ต้องได้รับผลกระทบจากปัญหาตะวันออกกลางที่ทำให้ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น แต่รัฐบาลยังมีเครื่องมือดูแล โดยเฉพาะรระดับรายได้ของประชาชนเพื่อให้อยู่ในระดับที่รองรับการปรับราคาสินค้าที่สูงขึ้นได้ ส่วน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้แสดงความเชื่อมั่นที่จะเข้าดูแลเสถียรภาพราคา เห็นได้จากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถึง 3 รอบ และได้มีการประสานงานกับ กระทรวงการคลัง และหน่วยงานด้านเศรษฐกิจอื่นๆ เพื่อดูแลไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก

รมว.คลัง ยังกล่าวบรรยายพิเศษ เรื่องบทบาทของกระทรวงการคลังในยุคโลกาภิวัตน์ ในการอบรมของสถาบันวิทยาการเศรษฐกิจการคลัง ว่า กระทรวงการคลังในฐานะผู้ดูแลนโยบายมองประเด็นปัญหาของการขยายตัวเศรษฐกิจของประเทศเป็นโจทย์ที่แก้ไขปัญหาได้ง่ายกว่าการดูแลเสถียรภาพด้านราคาคือ เงินเฟ้อ ซึ่งหากเศรษฐกิจไม่เติบโต รัฐบาลก็สามารถอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ มีการปรับลดภาษี เพื่อทำให้เศรษฐกจิดีขึ้นได้ และประชาชนได้ประโยชน์

แต่การแก้ปัญหาเสถียรภาพราคา ดูแลเงินเฟ้อ มีเครื่องมือแก้ปัญหาน้อย แม้แต่ ธปท.ก็มีข้อจำกัด เพราะแต่แต่การขึ้นดอกเบีร้ยนโยบายก็ต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะการขึ้นดอกเบี้ยย่อมกระทบต่อต้นทุนผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น เพราะต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ก็ต้องส่งผลต่อราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้น ดังนั้นการขึ้นดอกเบี้ยอาจกดดันให้เงินเฟ้อปรับสูงขึ้นได้ แม้ตามทฤษฎี บอกว่า การขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นการกระตุ้นการออมเงินมากขึ้น และมีการกู้เงินลดลง แต่ในยุคที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว มองว่าไม่มีสูตรสำเร็จของการแก้ปัญหาตายตัว

ขณะที่ผู้ว่า ธปท. เป็นบุคคลแรกที่ระบุว่า การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อแก้ปัญหาจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 8 ไตรมาส จึงจะเห็นผล ซึ่งมองว่า เวลา 2 ปี เป็นเรื่องที่ห่างไกลจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างมาก เพราะการขึ้นดอกเบี้ยนั้นมีผลเกิดขึ้นทันที ดังนั้นจึงมีคำถามว่า การขึ้นดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือเดียวหรือไม่ แต่กระทรวงการคลังมองว่า ยังมีเครื่องมืออื่น

ทั้งนี้ในส่วนของกระทรวงการคลังมีการวางนโยบายให้สอดคล้องกับ ธปท. ซึ่งที่ผ่านมาเห็นได้ว่ามีการปรับลดงบประมาณประจำปี 55ให้ขาดดุลงบประมาณน้อยลงเพื่อไม่ให้มีผลกระตุ้นเศรษฐกิจ และส่งผลต่อระดับราคาสินค้าและกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม แต่ปัญหาเงินเฟ้อที่มีมากกว่า ดังนั้นนโยบายการคลัง ต้องไม่สร้างเงื่อนไขในการกระตุ้นราคาสินค้า และนโยบายธปท.ต้องตอบโจทย์การแก้ปัญหาเงินเฟ้อให้ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ