โบรกฯแนะ"เก็งกำไร"TRUE มองดีลซื้อฮัทช์หนุนกำไร-มาร์จิ้นดีขึ้นในระยะยาว

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 2, 2011 16:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์ส่วนใหญ่แนะนำให้"ซื้อเก็งกำไร"หุ้น บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) เนื่องจากเห็นว่าการเข้าทำดีลซื้อฮัทช์ และทำสัญญากับ บมจ.กสท โทรคมนาคม ทำให้ลดความเสี่ยงอายุสัญญาสัปมทานที่ใกล้หมดลงในปี 56 ยื่นออกไปอีก 14.5 ปี และช่วยทำกำไรและมาร์จิ้นให้บริษัทดีขึ้นในระยะยาว

แต่ในระยะสั้นยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ภาครัฐ หรือ กระทรวงไอซีทีจะตรวจสอบสัญญาสัมปทานกรณีการแก้ไขสัญญาสัมปทานในอดีต และ กรณีที่ไอซีทีจะตรวจสอบถึงประเด็นความไม่โปร่งใสในการเซ็นสัญญาของ TRUE และ กสท ซึ่งจะมีการเรียกทางบอร์ดของทางกสท. ซึ่งต้องติดตามต่อไป

รวมถึงการลงทุนพัฒนาโครงข่าย CDMA ของฮัทช์ มาเป็นระบบ HSPA จะส่งผลให้บริษัทต้องมีภาระหนี้เพิ่มอีกประมาณ 1 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันที่มีหนี้สินราว 7 หมื่นล้านบาท

          โบรกเกอร์       คำแนะนำ         ราคาเป้าหมาย(บาท)

          บล.ดีบีเอสฯ     ซื้อเก็งกำไร           9.25
          บล.กสิกรไทย    Outperform          8.60
          บล.กิมเอ็ง      ซื้อเก็งกำไร           7.90
          บล.ฟาร์อีสท์       ถือ                6.90
          บล.กรุงศรีอยุธยา   ขาย               6.90

นายจิรสิทธ วุฒิไกร ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล. ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า ดีลเข้าซื้อฮัทช์ และได้มีการเซ็นสัญญาใหม่กับบมจ.กสท โทรคมนาคม ใหม่น่าจะส่งผลให้ผลประการดีกว่าปัจจุบัน แต่ระยะแรกคงจะไม่ได้รับรู้เร็ว คงต้องใช้เวลานานเป็นปี คงไม่พลิกฟื้นเร็ว

แต่ช่วยทำให้บริษัทลดความเสี่ยงจากอายุสัญญาสัมปทาน 2G ที่จะหมดอายุลงในปี 56 หรือในอีก 3 ปีข้างหน้า ยืดการดำเนินธูรกิจออกไปเป็น 14.5 ปี

"ดีลใหม่น่าจะทำกำไรได้ดีกว่าปัจจุบัน แต่ในแง่ราคาเขายังไม่บอกรายละเอียด น่าจะสามารถทำกำไรได้มากขึ้น มาร์จิ้นดีกว่าแต่ว่าเท่าไร ยังไม่ทราบ จนกว่าจะเห็นของจริงอีก 2-3 ปี"นายจิรสิทธ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ได้แนะนำ ซื้อเก็งกำไร เพราะหนี้สินต่อทุน (D/E) สูงมาก โดยในสิ้นไตรมาส 3/53 มีหนี้สิน 6.5 หมื่นล้านบาท หรือ D/E อยู่ที่ 5.2 เท่า

ส่วนกรณีที่ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC)แย้งว่าสัญญาที่เซ็นกันไม่เป็นธรรม คาดว่าคงจะไม่ทำให้ดีลล้ม เพราะได้เซ็นสัญญากันไปแล้ว

ด้านนายถกล บรรจงรักษ์ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า แม้ TRUE จะเข้าซื้อฮัทช์ และทำสัญญาใหม่กับ กสท.ได้ช่วยลดความกังวลอายุสัญญาสัมปทานที่ใกล้หมดอายุ และส่งผลบวกในระยะยาว แต่มองว่าบริษัทจะต้องใช้เงินลงทุนพัฒนาเครือข่ายจากระบบ CDMA เป็นระบบ HSPA ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 6 พันล้านบาท ซึ่งจะทำให้มีเงินกู้เพิ่มเติมมาอีก และคาดว่าบริษัทจะมีเงินกู้เพิ่มประมาณ 1 หมื่นล้านบาท จากปัจจุบันที่มีหนี้สินอยู่ 7 หมื่นล้านบาท ทำให้บริษัทมีต้นทุนสูง และภาระหนี้มาก

และราคาซื้อขายกันขณะนี้ก็เป็นราคาเต็มมูลค่า รวมทั้งในระยะสั้นมีปัจจัยเสี่ยง 2 เรื่อง จากประเด็นการตรวจสอบจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ถึงประเด็นความไม่โปร่งใสในการเซ็นสัญญาของ TRUE และ กสท ซึ่งจะมีการเรียกทางบอร์ดของทางกสท และ กรณีการเรียกร้องค่าเสียหายจากภาครัฐกรณีการแก้ไขสัญญาสัมปทานในอดีต ซึ่งทางกระทรวงไอซีที มีการเลื่อนพิจารณาออกไปอีก 15 วัน

"จริงๆที่แนะนำให้ขาย เพราะราคาเต็มมูลค่าแล้ว ....มองว่าราคาขึ้นมาเกือบเท่าตัวในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ตลาดรับข่าวไปหมดแล้ว ถ้าราคาอ่อนตัวก็น่าเข้าซื้อ ส่วนกรณีประเด็นไอซีทีจะตรวจสอบสัญญา เป็นปัจจัยลบระยะสั้น คิดว่าพอเคลียร์ได้ก็ไม่มีอะไร"นายภกล กล่าว

ขณะที่ บล.กิมเอ็ง(ประเทศไทย)ได้ปรับขึ้นราคาเหมาะสมจาก 5.50 บาท เป็น 7.90 บาท เพื่อสะท้อนประโยชน์จากการเข้าซื้อ HUTCH และการเซ็นสัญญาใหม่กับ CAT ที่ช่วยยืดอายุธุรกิจออกไปอีก 14.5 ปี

อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นความเสี่ยงจากการที่กระทรวงไอซีทีเตรียมเข้าตรวจสอบสัญญาใหม่ที่กลุ่ม TRUE ทำกับ กสท. ซึ่งในอนาคตอาจถูกตีความว่าเข้าข่าย พ.ร.บ ร่วมทุน และขัดหลักเกณฑ์ของ กสทช. จึงคงคำแนะนำเพียง “ซื้อเก็งกำไร"

ส่วนบล.เกียรตินาคิน ยังไม่สามารถแนะนำ เพราะเห็นว่าในปีนี้กลุ่ม TRUE วางแผนใช้เงินลงทุน 10,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 50% จากปี 53 ยังไม่รวมเงินลงทุนอีก 5,000-6,000 ล้านบาท สำหรับปรับปรุงโครงข่าย CDMA เป็น HSPA หลังซื้อ ฮัทช์และทำสัญญาใหม่กับ กสท. ทั้งนี้ความต้องการใช้เงินลงทุนของกลุ่ม TRUE ที่สูงกว่าสมมติฐานของเรา ทำให้ต้องปรับสมมติฐานในการประเมินมูลค่าเหมาะสม TRUE ส่งผลให้มูลค่าเพิ่มจาก Hutch มีแนวโน้มลดลงประมาณปัจจุบันที่ 3.80 บาท (มูลค่าเหมาะสม TRUE ไม่รวม Hutch ที่ 4.30 บาท)

ปัจจัยพื้นฐานของ TRUE มีจุดอ่อนด้านฐานะการเงินที่อ่อนแอ และมีความเสี่ยงสภาพคล่องอาจตึงตัว เนื่องจากปัจจุบันมีภาระหนี้คงเหลือประมาณ 66,000 ล้านบาท มี Net debt/Equity สูงกว่า 6 เท่า ขณะเดียวกันปีนี้ความต้องการใช้เงินลงทุนที่สูงขึ้น ทำให้เรากังวลต่อแหล่งเงินทุนของ TRUE อาจเป็นอุปสรรคต่อแผนขยายการลงทุน และมองว่ามีความเป็นไปได้ที่ TRUE อาจตัดสินใจขายหุ้นเพิ่มทุนส่วนที่เหลือ 6,700 ล้านหุ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ