(เพิ่มเติม) IRPC คาดปี 54 รายได้ใกล้เคียงปีก่อนแม้มีปิดซ่อมบำรุงใหญ่ แต่กำไรดีขึ้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday February 8, 2011 15:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) คาดว่า รายได้ในปี 54 จะทำได้อย่างน้อยก็ใกล้เคียงกับปี 53 ที่มีรายได้ 2.2 แสนล้านบาทตามเป้าหมาย แม้ว่าในปีนี้บริษัทจะมีการปิดซ่อมบำรุงใหญ่ในช่วงเดือน พ.ย.54 เป็นเวลา 30 วัน ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตหายไปบางส่วน

ประกอบกับ ในปีนี้ธุรกิจโรงกลั่นอาจจะได้รับผลกระทบจากการใช้น้ำมันลดลงหลังมีการผลักดันให้เกิดการใช้ไบโอดีเซลในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้มีการผสมเอทานอลในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณน้ำมันน้อยลง แต่ในช่วงต้นปีนี้ราคาน้ำมันยังถือว่าดีกว่าคาด หลังเกิดปัญหาความรุนแรงในอียิปต์และกังวลว่าอาจลุกลามไปยังประเทศอื่นๆ ใกล้เคียงที่ผู้นำอยู่ในตำแหน่งเป็นเวลานาน อาทิ จอร์แดน ซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ โดยช่วงที่ผ่านมาราคาน้ำมันสูงกว่า 90 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

ส่วนธุรกิจปิโตรเคมียังคงคาดว่าราคาผลิตภัณฑ์ในตลาดโลกจะอยู่ในช่วงขาลงเป็นปีสุดท้ายตามวัฎจักรธุรกิจปิโตรเคมี แต่ก็ยังมีหลายผลิตภัณฑ์ที่ราคาดี โดยเฉพาะปิโตรเคมีเกรดพิเศษที่บริษัทพยายามเพิ่มสัดส่วนให้เป็น 40% ภายในปี 57 จากปัจจุบันที่มีสัดส่วน 20% โดยล่าสุดบริษัทมีแผนลงทุนขยายกำลังการผลิต ABS อีกประมาณ 6-7 หมื่นตัน จากที่มีกำลังการผลิตราว 4 หมื่นตัน โดยคาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 100 ล้านเหรียญสหรัฐ

“ปีนี้รายได้อาจใกล้เคียงกับปีก่อน แต่กำไรน่าจะออกมาดี เพราะบริษัทสามารถประหยัดต้นทุนได้ในหลายส่วนโดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้า หลังโรงไฟฟ้าขนาด 220 แล้วเสร็จ จะทำให้ประหยัดค่าไฟได้เดือนละ 150 ล้านบาท และอีกหลายๆโครงการในตามแผนฟีนิกซ์ทยอยแล้วเสร็จจะทำให้ประหยัดเพิ่มขึ้นในหลายส่วน"นายไพรินทร์ กล่าว

นายไพรินทร์ กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อชุมชน เพราะการใช้พลังงานก๊าซธรรมชาติในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าน้ำมันเตาที่เป็นเชื้อเพลิง โดยคาดว่าจะลดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้ร้อยละ 40 จากปัจจุบัน และประมาณการว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศได้ 4.2 แสนตันต่อปี

โครงการนี้ถือเป็นโครงการนำร่องของประเทศไทยในการร่วมลดภาวะโลกร้อนและอยู่ระหว่างดำเนินการเสนอขายคาร์บอนเครดิต โดยราคาปัจจุบันที่ยุโรปเสนอขายตันละ 13 ยูโร ซึ่งหากการเสนอขายเกิดขึ้นจริงจะเป็นส่วนสร้างรายได้ให้กับบริษัทอีกทางหนึ่งด้วย โดยบริษัทที่รับซื้อคือบริษัทที่สร้างมลพิษทางอากาศซึ่งบริษัทไทย อาทิ การบินไทย เข้าข่ายต้องรับซื้อคาร์บอนเครดิต

ส่วนโครงการฟีนิกซ์เป็นโรงการขยายการลงทุนและปรับปรุงคุณภาพการผลิตจำนวน 19 โครงการมูลค่าการลงทุนประมาณ 1.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ด้านนายอธิคม เติมศิริ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายแผนธุรกิจองค์กร IRPC กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน พ.ค.54 โดยจะนำไฟฟ้ามาใช้ในหน่วยผลิตของบริษัททั้งหมด คาดว่าจะประหยัดค่าไฟฟ้าได้ราว 5 ล้านบาทต่อวัน หรือราว 150 ล้านบาทต่อเดือน ช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานได้มาก

และล่าสุดบริษัทได้ไปศึกษาดูงานโรงไฟฟ้าของบริษัท J-POWER ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของประเทศญี่ปุ่นให้ความรู้ในการศึกษาดูงานการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานถ่านหินสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและได้มาตรฐานระดับสูง อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีแผนการลงทุนร่วมกันในขณะนี้ แต่หากอนาคตมองเห็นโอกาสร่วมกันก็มีความเป็นไปได้ในการลงทุน

อนึ่ง บริษัท พัฒนาพลังงานไฟฟ้า จำกัด(J-POWER)เป็นผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งบริษัทเป็นผู้ให้คำปรึกษาด้านโรงไฟฟ้ากับประเทศต่างๆจากประสบการณ์ที่สะสมมากว่า 50 ปี สามารถผลิตฟ้าพลังงานความร้อนร่วม ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ คาดว่าจะและเสร็จในปี ค.ศ. 2014

ปัจจุบัน J-POWER ลงทุนในประเทศไทย 9 โครงการ เป็นโรงไฟฟ้า IPP 2 แห่ง และโรงไฟฟ้า SPP 7 แห่ง ซึ่งมองว่าการลงทุนในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนเป็นแหล่งลงทุนสำคัญ แม้ว่าการลงทุนในประเทศไทยจะประสบปัญหาด้านกฎหมายและการต่อต้านจากชุมชน แต่เชื่อว่ามาตรฐานการลงทุนและวัดตามการปล่อยมลภาวะที่ J-POWER ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งนั้นจะทำให้ชุมชนและภาครัฐเข้าใจในที่สุด และไม่กังวลต่อกฎหมายในประเทศไทยที่เข้มงวดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะ J-POWER มีโรงไฟฟ้าในชุมชนขนาดใหญ่ เขตนิคมอุตสาหกรรมใจกลางเมืองในญี่ปุ่นหลายแห่ง

นายอธิคม กล่าวถึงโครงการลงทุนนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยองว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาการลงทุนบนพื้นที่ 2.5 พันไร่ โดยลงทุนเฟสแรกบนพื้นที 600-700 ไร่ ใช้เงินลงทุนเฟสแรกราว 500-700 ล้านบาท คาดว่าโครงการนี้จะใช้เวลา 3 ปี จึงแล้วเสร็จทั้งโครงการ โดยขณะนี้ยังคงอยู่ระหว่างรอความชัดเจนจากภาครัฐอีกครั้ง เบื้องต้นมีลูกค้าหลายประเภทอุตสาหกรรมสนใจลงทุนและมีความเป็นไปได้ที่กลุ่มลูกค้าจะเป็นกลุ่มสินค้าไบโอพลาสติก ทั้งนี้ โครงการนิคมอุตสาหกรรมไออาร์พีซีจะเป็นผู้ลงทุนทั้งหมดและต้องการให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ร่วมกับชุมชนได้เป็นอย่างดี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ