Analysis:แผนควบรวมกิจการ TMX-LSE สะท้อนแนวโน้มการผนึกรวมกิจการทั่วโลก

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday February 14, 2011 15:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การผนึกรวมกิจการมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ของทีเอ็มเอ็กซ์ กรุ๊ป อิงค์ (TMX Group Inc.) ผู้ประกอบการตลาดหุ้นโตรอนโต (TSX) และลอนดอน สต็อค เอ็กซ์เชนจ์ (Lonon Stock Exchange หรือ LSE) ผู้ประกอบการตลาดหุ้นลอนดอนนั้น ตกเป็นข่าวสำคัญของสื่อมวลชนสายธุรกิจในโตรอนโต หลังจากที่มีการประกาศข้อตกลงควบรวมกิจการเมื่อวันพุธที่แล้ว นับเป็นการส่งสัญญาณถึงกระแสแห่งการควบรวมและซื้อกิจการ ในขณะที่เศรษฐกิจโลกสามารถฟื้นตัวจากวิกฤติการเงินโลกได้ในที่สุด

อันที่จริงแล้ว การควบรวมกิจการมูลค่าเกือบ 7 พันล้านดอลลาร์ของ TMX และ LSE นั้น เกิดขึ้นหลังจากที่การเข้าเทคโอเวอร์กิจการบริษัท เอเอสเอ็กซ์ จำกัด บริษัทผู้ประกอบการตลาดหุ้นออสเตรเลีย โดยบริษัท สิงคโปร์ เอ็กซ์เชนจ์ มูลค่า 8.35 พันล้านดอลลาร์ ส่วนข้อตกลงอีกรายการก็คือ การจัดตั้งตลาดหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกาใต้ผ่านการดำเนินการตามแนวทางกฎหมาย

หลังจากที่มีการประกาศข้อตกลงระหว่าง TMX และ LSE ได้ไม่นาน ก็มีรายงานข่าวออกมาว่า Deutsche Boerse AG มีความคืบหน้าในการเจรจาเพื่อซื้อกิจการของ NYSE Euronext เพื่อจัดตั้งบริษัทขนาดมหึมาที่อาจจะทำให้ตลาดการเงินทั่วโลกเล็กลงในพริบตา

องค์กรใหม่จะมีอิทธิพลโดดเด่นในการซื้อขายหุ้นเหมืองและทรัพยากร

การควบรวมกิจการระหว่าง TMX-LSE อาจจะทำให้เกิดตลาดหุ้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกในแง่ของปริมาณการซื้อขายต่อปี ซึ่งอาจจะมีการจดทะเบียนหุ้นถึง 6,700 ราย ในตลาดหุ้น 20 แห่งใน 7 ประเทศ รวมทั้งเงินทุนในตลาดทั้งหมด 5.8 ล้านล้านดอลลาร์

ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น เมื่อมีการรวมตลาดหุ้นรายใหญ่ที่สุดของโลกในแง่ของหุ้นเหมือง, น้ำมันและก๊าซ และบริษัททรัพยากรอื่นๆ 2 แห่งเข้าไว้ด้วยกัน บริษัทแห่งใหม่ก็จะครอบครองการจดทะเบียนและการซื้อขายเครื่องมือด้านการเงินในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์และทรัพยากรธรรมชาติที่คึกคักทั่วโลก

ซีอีโอของ TMX และ LSE ยกจุดเด่นจากการควบรวมกิจการครั้งนี้ในเรื่องยุทธศาสตร์ด้านต้นทุน และจุดแข็งในภาคทรัพยากรและตลาดเกิดใหม่

ซาเวียร์ โรเล็ต ซีอีโอของ LSE กล่าวว่า ผู้นำระดับสากลรายใหม่ ซึ่งผนวกกับโครงสร้างต้นทุนที่ถูกต้อง จุดแข็งด้านการเงิน ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และพอร์ทฟอลิโอผลิตภัณฑ์ จะทำให้มีจุดยืนที่แข็งแกร่งในการทำฉวยโอกาสในการขยายตัวในตลาดเกิดใหม่ และส่งมอบความเจริญรุ่งเรืองไปยังกลุ่มลูกค้าในอเมริกาเหนือ ยุโรป และภูมิภาคอื่นๆ

ด้านโทมัส โคลเอท ซีอีโอของ TMX กล่าวว่า เรากำลังจัดตั้งกลุ่มธุรกิจระดับสากลที่มีความเชี่ยวชาญสูง และมีความเป็นผู้นำอย่างที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ในภาคธุรกิจหลัก อีกทั้งยังมีความสามารถในการแข่งขัน และคว้าชัยชนะในระดับเวทีโลก ซึ่งลูกค้าชาวแคนาดาจะได้รับประโยชน์จากการเข้าถึงเครือข่ายเงินทุนที่ลึกที่สุดของโลกรายหนึ่ง ขณะที่ผู้ออกหุ้นในยุโรปก็จะมีหนทางที่มีประสิทธิภาพในการเข้าไปสู่ตลาดการเงินในอเมริกาเหนือ

แม้ว่าจะมีการป่าวประกาศความเคลื่อนไหวดังกล่าว วงในมองว่า การรวมตัวของ TMX และ LSE นั้น เกิดจากความจำเป็นในขณะที่ตลาดทั่วโลกนั้นมีการพัฒนามากขึ้น มากกว่าเป็นเพียงแผนเพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบของธุรกิจ

ข้อตกลงครั้งนี้ถูกมองว่า ถูกกดดันจากความจำเป็น 2 ประการ ได้แก่ ความต้องการในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนทั่วทุกมุมโลกมากขึ้น และการรุกของระบบการซื้อขายทางเลือกต้นทุนต่ำอย่างระบบการซื้อขายแบบอิเล็กทรอนิกที่ดึงรายได้และส่วนแบ่งตลาดในตลาดหุ้นแบบดั้งเดิมไปอย่างต่อเนื่อง นสพ.เดอะ โกลบอล แอนด์ เมล ระบุ

อันดับแรกนั้น ขณะที่ตลาดหุ้นขยายตัวทั้งในรูปแบบของการควบรวมกิจการ จึงเป็นเรื่องยากมากขึ้นที่ตลาดหุ้นแคนาดาจะโฆษณาตัวเองว่าเป็นตลาดสากล ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับยุทธศาสตร์ในการทำธุรกิจของการจดทะเบียนบริษัทที่ร่ำรวย

แม้ว่าปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นโตรอนโต 50% จะเกิดขึ้นนอกเขตแดนของแคนาดา และแม้ว่าหุ้นบริษัททรัพยากรที่ไม่ได้มีฐานการดำเนินงานในแคนาดาจะจดทะเบียนในตลาดหุ้นโตรอนโต แต่บริษัทเหมืองชั้นนำระดับโลกอย่างบีเอชพี บิลลิตัน และริโอ ทินโต ก็ยังมองข้ามตลาดแคนาดาไป

ประการที่ 2 มีระบบการซื้อขายทางเลือก 50 ระบบในสหรัฐ ขณะที่ในแคนาดานั้น นักลงทุนรายย่อยครึ่งหนึ่งดึงส่วนแบ่งตลาดออกจากตลาดหุ้นแคนาดาไปถึง 30% และเมื่อการผูกขาดการซื้อขายหุ้นในแคนาดาผ่านตลาดหุ้นที่อยู่ภายใต้การควบคุม เช่น ตลาดหุ้นโตรอนโตและมอนทรีออล ตลอดจนตลาดหุ้นที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางในเมืองต่างๆของแคนาดา เช่น เมืองคาลการี และแวนคูเวอร์

แม้ว่ามูลค่าจะมีมากกว่าถึง 3.25 พันล้านดอลลาร์ เมื่อเปรียบเทียบกับตลาด TMX ที่ 2.99 พันล้านดอลลาร์ นักวิเคราะห์บางส่วนก็มองว่า ตลาดหุ้นลอนดอนนั้นขยับในเชิงป้องกันมากกว่ารุกเพื่อการเติบโต

นักวิเคราะห์ของซิตี้กรุ๊ป 2 ราย ระบุว่า ตลาดคงจะได้เห็นการประกาศควบรวมกิจการในที่สุด เนื่องจากตลาดหุ้นลอนดอนและตลาดหุ้นแคนาดาต้องการมีบทบาท

ความคึกคักของการควบรวมกิจการก่อนที่จะเกิดวิกฤตการเงินโลกเมื่อปี 2551 นั้น NYSE Euronext ก็เปิดฉากขึ้นมาจากการรวมตัวกันของตลาดหุ้นนิวยอร์กและตลาดหุ้นยุโรปหลายแห่ง ขณะที่เศรษฐกิจโลกขยายตัวขึ้น กระแสการควบรวมกิจการในตลาดเงินก็ดูเหมือนว่า จะมีแนวโน้มจะลุกลามไปยังทวีปอื่นๆ หากทางผู้บริหารสามารถขออนุมัติจากทางการได้

อุปสรรคจากการกำกับดูแล สถานการณ์ทางการเมืองอาจจะเป็นอุปสรรคในการทำข้อตกลง

เมื่อมีการประกาศข้อตกลง TMX-LSE นั้น ความล้มเหลวในการเทคโอเวอร์บริษัท โปแตช คอร์ปอเรชั่น ออฟ ซัสคัทเชวาน ของแคนาดา โดยบริษัทเหมืองยักษ์ใหญ่อย่างบีเอชพี บิลลิตัน เมื่อฤดูใบไม้ร่วงที่แล้วนั้น ก็เริ่มที่จะเข้ามาส่งผลกระทบต่อศูนย์กลางแห่งอำนาจที่จะมีบทบาทในการตัดสินชะตากรรมของการทำข้อตกลงของตลาดหุ้นเหล่านี้

แม้ว่าการควบรวมกิจการจะขึ้นอยู่กับการอนุมัติของทางรัฐบาลกลาง เจ้าหน้าที่อาวุโสจากออนทาริโอและควิเบคก็ได้ออกมาเผยแพร่คำเตือนแล้ว ซึ่งผู้ถือหุ้น TMX จะได้ถือหุ้นรวม 45% ส่วนผู้ถือหุ้นตลาดลอนดอน จะได้ถือหุ้นใหญ่ 55% ซึ่งฝั่งตลาดหุ้นลอนดอนก็จะมีผู้บริหารในบอร์ดถึง 8 ราย จากทั้งหมด 15 ราย

ทางการออนทาริโอและควิเบคมีสิทธืที่จะวีโต้ข้อตกลงที่เกี่ยวกับตลาดหุ้นโตรอนโตได้ หากว่ามีผู้ถือหุ้นจะได้ถือหุ้นมากกว่า 10% ในบริษัทร่วมทุนแห่งใหม่ ขณะที่ธุรกิจหุ้นของแคนาดานั้นถูกกำกับดูแลโดยทางการระดับจังหวัด ซึ่ง TMX คาดว่า จะได้เข้าไปดูแลทั้งออนทาริโอและควิเบค ขณะที่ตัวตลาดหุ้นเองนั้นก็เป็นส่วนผสมของตลาดหุ้นโตรอนโตและตลาดหุ้นมอนทรีออล หลังจากที่ได้มีการควบรวมกิจการเมื่อปี 2551

การแสดงความเห็นที่ว่า การควบคุมนั้นจะขึ้นอยู่กับอีกฝ่ายหรือตลาดหุ้นลอนดอน ทางดไวท์ ดันแคน รัฐมนตรีกระทรวงคลังของแคนาดา กล่าวถึงสินทรัพย์เชิงยุทธศาสตร์ของ TSX ว่าเป็นเหมือนเครื่องเตือนความจำถึงเรื่องภาษีที่ฝ่ายที่คัดค้านการทำข้อตกลงกับโปแตชอย่างรุนแรงได้นำมาใช้ รวมถึงบุคคลที่ประสบความสำเร็จในการเข้ามาขวางการทำข้อตกลง หลังจากที่ได้จุดกระแสคลื่นแห่งการต่อต้านการเทคโอเวอร์

รัฐบาลควิเบคก็เช่นกัน ได้ออกมาแสดงความกังวล และต้องการให้หน่วยงานกำกับดูแลหลักทรัพย์ระดับจังหวัดจัดการอภิปรายสาธารณะเพื่อรับฟังความคิดเห็นประชาชนในเรื่องนี้

เรย์มอนด์ บาแชนด์ รัฐมนตรีกระทรวงคลัง กล่าวว่า ข้อเสนอในการควบรวมกิจการตลาดหุ้นลอนดอนและโตรอนโตนั้นทำให้มีการหยิบยกประเด็นสำคัญสำหรับเศรษฐกิจในควิเบคและแคนาดาขึ้นมา ซึ่งรัฐบาลควิเบคจะใช้เวลาในการตรวจสอบอย่างรอบคอบเกี่ยวกับการควบรวมกิจการ เพื่อสร้างความมั่นใจว่า ทางมลรัฐจะได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ดีที่สุด

สำหรับเงินทุนของประเทศนั้น แจ็ค เลย์ตัน ผู้นำรรคนิว เดโมเครติค พาร์ตี้ มองว่า ข้อเสนอในการควบรวมกิจการนั้นก็เหมือนกับการเทคโอเวอร์ ซึ่งทำให้ชาวแคนาดาวิตกกังวล ขณะที่นายกฯแคนาดาพยายามที่จะรับประกันว่า การควบรวมกิจการครั้งนี้ไม่ใช่การ เทคโอเวอร์ พร้อมกับกล่าวหารัฐบาลแคนาดาว่าประสบความล้มเหลวอีกครั้งในบอกถึงความแตกต่างระหว่างการลงทุนจากต่างประเทศที่เป็นประโยชน์ และการเทคโอเวอร์ที่จะทำให้เกิดความเสียหาย และกดดันนายกฯแคนาดาให้ให้คำมั่นเรื่องการจัดประชามติขึ้นมา ตลอดจนการดำเนินการอย่างโปร่งใส

นายกฯแคนาดากล่าวชี้แจงข้อกล่าวหาดังกล่าวว่า ข้อตกลงครั้งนี้ถือเป็นการทำธุรกรรมที่ซับซ้อน ซึ่งจะต้องมีขั้นตอนทางกฎหมายเข้ามาตรวจสอบข้อตกลงภายใต้กฎหมายการลงทุนของแคนาดา และขั้นตอนดังกล่าวก็คงต้องใช้เวลา

บางทีนายกฯแคนาดาอาจจะหวนระลึกถึงวิธีการที่หน่วยงานด้านการกำกับดูแลได้ดูแลการทำข้อตกลงแบบข้ามแดน ซึ่งได้มีการเปลี่ยนแปลงการเทคโอเวอร์บริษัทโปแตช หลังจากที่ประชาชนไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอเทคโอเวอร์แบบที่ไม่เป็นมิตร

หลังจากที่ได้มีการประกาศข้อตกลง TMX-LSE ประเด็นที่ปรากฎบนเว็บไซต์เดอะ โกลบอล แอนด์ เมล อาจจะเป็นเหมือนการคาดการณ์ล่วงหน้าถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับชี้ดโมฮัมหมัด บิน ราชิด อัล มัคทุม เจ้าผู้ครองดูไบ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดของตลาดหุ้นลอนดอน และจะกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดของบริษัทร่วมทุนแห่งใหม่ ผลประโยชน์ทางธุรกิจของเขาและความลำบากในช่วงที่เศรษฐกิจโลกผันผวนเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา รัฐมนตรีคลังของออนทาริโอซึ่งพูดแทนใจชาวแคนาดาหลายรายนับตั้งแต่ที่ข่าวนี้ปรากฎขึ้นมา เขาได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดจากดูไบ ดันแคน กล่าวว่า เราทำธุรกิจกับตะวันออกกลาง ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจนักว่า ผมต้องการให้เขามาเป็นเจ้าของตลาดหุ้นของเรา

คริสติน ซู จากสำนักข่าวซินหัวรายงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ