บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปรับแนวโน้มเครดิตของ บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) เป็นแนวโน้มเครดิตเป็นบวกจากแนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ ในขณะที่อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวคงอยู่ ที่ระดับ ‘A(tha)’ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นคงอยู่ที่ระดับ ‘F1(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันไม่ด้อยสิทธิของ SCC คงอยู่ที่ระดับ ‘A(tha)’
นอกจากนี้ ฟิทช์ได้จัดอันดับเครดิตภายในประเทศสำหรับหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันไม่ด้อยสิทธิชุดใหม่ของ SCC ครั้งที่ 1/2554 มูลค่าไม่เกิน 1.5 หมื่นล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2558 ที่ระดับ ‘A(tha)’ โดยเงินที่ได้รับจากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่นี้จะนำมาใช้ชำระคืนหุ้นกู้ที่ถึงกำหนดชำระ
การปรับแนวโน้มเครดิตเป็นบวก เป็นผลมาจากอัตราส่วนหนี้สินที่ลดลงจากกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งกว่าที่คาด รวมถึง เงินที่ได้รับจากการขายหุ้นสามัญที่บริษัทฯถืออยู่ในบริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (‘A+(tha)’/Stable) ในไตรมาสที่สี่ปี 2553 อัตราส่วนหนี้สินของ SCC ณ สิ้นปี 2553 ต่ำกว่าที่ฟิทช์ได้คาดการณ์ไว้ โดยอัตราส่วนหนี้สิน ซึ่งวัดจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่า (รวมเงินปันผลรับจากบริษัทร่วม) (adjusted net debt to EBITDAR (including dividends from associates)) ลดลงมาอยู่ที่ 2.0 เท่า ณ สิ้นปี 2553 (2.8 เท่า ณ สิ้นปี 2552) อัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำนี้จะช่วยเพิ่มความคล่องตัวทางการเงินให้แก่บริษัทฯในช่วงที่สภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจมีความยากลำบาก รวมถึงการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้นในปี 2554
อันดับเครดิตของ SCC สะท้อนถึงการที่บริษัทฯมีการกระจายความเสี่ยงของกระแสเงินสดรับจากธุรกิจหลักทั้งสาม ได้แก่ ธุรกิจปิโตรเคมี ธุรกิจปูนซีเมนต์และ ธุรกิจกระดาษ แม้ว่าธุรกิจปิโตรเคมีเป็นธุรกิจที่ผลิตกระแสเงินสดได้ในสัดส่วนที่สูงที่สุด แต่กระแสเงินสดจากธุรกิจปูนซีเมนต์และธุรกิจกระดาษน่าจะช่วยสนับสนุนการสร้างกระแสเงินสดของ SCC ในปี 2554 ซึ่งคาดว่าสภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจของธุรกิจปิโตรเคมีจะยังคงมีความยากลำบากอยู่
นอกจากนี้การที่บริษัทฯมีผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่หลากหลายน่าจะช่วยลดผลกระทบจากส่วนต่างกำไรที่อาจจะลดต่ำลงของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีสายใดสายหนึ่งโดยเฉพาะ อันดับเครดิตยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากสถานะความเป็นผู้นำในแต่ละธุรกิจหลักของบริษัทฯ ช่องทางการจัดจำหน่ายที่กว้างขวาง ชื่อเสียงที่เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีในกลุ่มลูกค้าในประเทศ รวมถึงทีมผู้บริหารที่มีประสบการณ์อันยาวนานในธุรกิจ
อันดับเครดิตยังได้พิจารณาถึงกำลังการผลิตที่เพิ่มมากขึ้นของบริษัทฯซึ่งเป็นผลมาจากโรงงานโอเลฟินส์แห่งที่สองและโรงงานผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีต่อเนื่องที่ได้ก่อสร้างเสร็จ และเริ่มดำเนินการแล้วในปี 2553 นอกจากนี้โรงงานผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องต่างๆที่เป็นโครงการร่วมทุนซึ่งส่วนใหญ่จะผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (HVA) ก็ได้ทยอยเริ่มดำเนินการผลิตตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2553
อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อรายได้ของ SCC ยังคงมีแนวโน้มที่จะได้รับแรงกดดันอย่างต่อเนื่องจากกำลังการผลิตส่วนเกินในตลาดปิโตรเคมีโลกในปี 2554 อย่างไรก็ตามผลกระทบต่อกำไรจากการดำเนินงานของ SCC น่าจะมีความรุนแรงน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมในช่วงต้นปี 2553 เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจโลกซึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย รวมถึง การขาดแคลนก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นวัตถุดิบของโรงงานผลิตโอเลฟินส์แห่งใหม่ในแถบตะวันออกกลาง นอกจากนี้ฟิทช์คาดว่าต้นทุนการผลิตที่ลดต่ำลงจากกำลังการผลิตที่ขยายใหญ่ขึ้น และการปรับปรุงประสิทธิภาพขบวนการผลิตน่าจะมีส่วนช่วยลดแรงกดดันดังกล่าวต่ออัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อรายได้ของบริษัทฯ
อันดับเครดิตของบริษัทฯถูกลดทอนลงจากปัจจัยเสี่ยงจากการจากการที่บริษัทฯต้องเผชิญกับความผันผวนของธุรกิจหลักของบริษัทฯ รวมถึงการมีอุปทานส่วนเกินจำนวนมากในอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และอุตสาหกรรมกระดาษในประเทศ ในขณะที่ผลกระทบจากกำลังการผลิตส่วนเกินในตลาดปิโตรเคมีโลกน่าจะบรรเทาลง และส่วนต่างกำไรของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีน่าจะทรงตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 แต่ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอาจส่งผลให้การฟื้นตัวของอัตราส่วนกำไรต่อรายได้ในปี 2554 เป็นไปได้อย่างจำกัด
อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้น หากบริษัทฯสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สิน (โดยวัดจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่า รวมเงินปันผลรับจากบริษัทร่วม) ให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 2.5 เท่าได้อย่างต่อเนื่อง ในทางกลับกัน แนวโน้มเครดิตอาจถูกปรับกลับมาเป็นมีเสถียรภาพหากบริษัทฯมีการลงทุนเข้าซื้อกิจการขนาดใหญ่ หรือมีอัตราส่วนกำไรต่อรายได้ที่ลดต่ำลงกว่าที่คาดเป็นอย่างมาก ซึ่งส่งผลให้ SCC ไม่สามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินดังกล่าวให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 2.5 เท่าได้อย่างต่อเนื่อง