(เพิ่มเติม) "วินเทจ วิศวกรรม"เล็งขาย IPO ก่อนช่วงสงกรานต์นี้-เผยสถาบันสนใจลงทุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday February 15, 2011 14:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเล็ก สิขรวิทย์ รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวาณิชธนกิจ บล.เอเซีย พลัส(ASP) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บมจ.วินเทจ วิศวกรรม(VTE) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า วินเทจฯ คาดว่าจะสามารถเสนอขายหุ้น IPO พร้อมเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ(MAI)ฯได้ก่อนช่วงสงกรานต์นี้

ขณะนี้มีนักลงทุนรายสถาบันให้ความสนใจที่จะลงทุน วินเทจฯ แต่เนื่องจากบริษัทฯมีการเสนอขายหุ้น IPO จำนวนน้อยมาก แค่ 20 ล้านหุ้น ดังนั้น คงจะต้องรอดูอีกทีว่าจะมีการพิจารณาจัดสรรหุ้นกันอย่างไร

นายโสรัจ โรจนเบญจกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร VTE เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ก่อตั้งมากว่า 18 ปี ดำเนินธุรกิจรับเหมาเฉพาะด้านการวางระบบ MEP ภายในอาคาร ซึ่งครอบคลุมงานติดตั้งระบบไฟฟ้าและสื่อสาร (Electrical System) งานติดตั้งระบบปรับอากาศ ระบบระบายอากาศ (Mechanical System) และระบบประปาและสุขาภิบาล (Plumbing System)

บริษัทมีแผนจะขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับประชาชนและนักลงทุนทั่วไปเป็นครั้งแรก(IPO)จำนวน 20 ล้านหุ้น หลังเพิ่มทุนแล้วเสร็จทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัทจะเพิ่มเป็น 80 ล้านบาท ประมาณเดือนมีนาคมนี้ และคาดว่าจะเป็นบริษัทแรกที่เข้าระดมทุนและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ในปีนี้

บริษัทมีแผนจะนำเงินที่ได้จากการเพิ่มทุน เพื่อเป็นทุนสำรองในการเพิ่มสภาพคล่อง รองรับการขยายตัวของธุรกิจและรับงานโครงการก่อสร้างใหม่ๆ ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่งานก่อสร้างขยายตัวอย่างมาก ทั้งโครงการเมกะโปรเจ็คด้านสาธารณูปโภค เช่นโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ การก่อสร้างอาคารคอนโดมีเนียมและโรงแรมในเขตกรุงเทพ และเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด ตลอดจนอาคารห้างสรรพสินค้าต่างๆ และอาคารสำนักงานของหน่วยงานรัฐบาล ซึ่งบริษัทคาดว่าจะได้รับงานใหม่อย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน บริษัทมีปริมาณงาน (Backlog) 496 ล้านบาทจากจำนวนกว่า 15 โครงการและคาดว่าจะรับรู้รายได้ส่วนใหญ่ในปีนี้และบางส่วนในปี 55-56 ที่ผ่านมาบริษัทมีผลงานทั้งในด้านงานคุณภาพสูง เช่น โรงแรมเชอราตัน หัวหิน และงานอาคารมาตรวิทยา อาคารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย เป็นต้น รวมถึงงานก่อสร้างที่จำเป็นต้องใช้เวลาก่อสร้างอย่างเร่งด่วน เช่น โครงการก่อสร้างศูนย์การค้า Home Pro ที่ใช้เวลาก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 4 เดือน เป็นต้น

บริษัทได้ลงทุนในการพัฒนา Software ที่สะท้อนต้นทุนก่อสร้างรวมถึงมีเจ้าหน้าที่บริษัทเข้าตรวจสอบการใช้วัสดุในหน่วยงานอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องตลอดโครงการ ทำให้มั่นใจได้ว่าบริษัทเป็นหนึ่งในบริษัทรับเหมาที่มีระบบควบคุมต้นทุนที่ดีที่สุด ดังจะเห็นได้จากอัตรากำไรขั้นต้นที่ระดับร้อยละ 16-20 ซึ่งนับว่าสูงกว่าผู้ประกอบการรายอื่นโดยทั่วไป

ถึงแม้ว่าในปีที่ผ่านมา คือในปี 53 ถือเป็นปีที่ไม่ดีของอุตสาหกรรมก่อสร้าง บริษัทก็ยังมีรายได้ที่เติบโตขึ้นอยู่ที่ 356 ล้านบาทและมีกำไรสุทธิ 15.78 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 4.4% ในขณะที่ในปี 52 บริษัทมีรายได้รวม 315 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 19.12 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิที่ 6.0% ซึ่งถือว่าบริษัทมีอัตรากำไรสูงกว่าอัตรากำไรของบริษัทรับเหมาทั่วไป" นายโสรัจ กล่าว

การบริหารกิจการที่มีประสิทธิภาพทั้งในด้านคุณภาพงาน ระยะเวลาก่อสร้างและการควบคุมต้นทุน ทำให้บริษัทได้รับเชิญเข้าประมูลงานอย่างต่อเนื่อง และการที่บริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงถึง 16-20% และกำไรสุทธิเฉลี่ย 4-6% สูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ