(เพิ่มเติม) ผถห.SSC อนุมัติแผนธุรกิจในอนาคต,ให้เวลา"เป๊ปซี่"15 วันตอบรับแก้สัญญา

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday February 15, 2011 16:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น บมจ.เสริมสุข (SSC) ในวันนี้มีมติอนุมัติให้บริษัทดำเนินการจัดทำแผนธุรกิจในอนาคตตามที่คณะกรรมการเสนอ ขณะเดียวกันบริษัทแจ้งให้ผู้ถือหุ้นทราบว่าได้กำหนดกรอบเวลาให้กับกลุ่มเป๊ปซี่ในการแจ้งข้อเสนอแก้ไขสัญญาเดิมกลับมาบริษัทภายใน 15 วันนับจากวันนี้

การประชุมดังกล่าวมีขึ้นตั้งแต่ในช่วงเช้าวันนี้ โดยมีผู้ถือหุ้นมาประชุมด้วยตนเองจำนวนมาก หรือประมาณ 220 ล้านหุ้น คิดเป็น 82.82% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ซึ่งนางสาวเพียงพนอ บุญกล่ำ ที่ปรึกษากฎหมายจากบริษัท วีระวงศ์ ชินวัฒน์ และ เพียงพนอ จำกัด ทำหน้าที่เสนอวาระการพิจารณาต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้น SSC โดยระบุว่า แผนธุรกิจในอนาคตของ SSC จะทำให้บริษัทขยายตลาดเครื่องดื่มที่ไม่ใช่น้ำอัดลม, ขยายตลาดน้ำดื่มภายใต้เครื่องหมายการค้า"คริสตัล", การเป็นผู้จัดจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม และ การเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มน้ำอัดลมภายใต้เครื่องหมายการค้าอื่น

ทั้งนี้ ที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนมัติแผนธุริจในอนาคต ด้วยคะแนนเสียงข้างมาก 99.89%

ด้านนายวรารัตน์ ชุติมิต ที่ปรึกษาทางการเงิน SSC จากบล.บัวหลวง กล่าวว่า บริษัทจะส่งข้อเสนอในที่ประชุมผู้ถือหุ้นในวันนี้ให้กับกลุ่มเป๊ปซี่ว่าจะจะมีการเจรจาตกลงแก้ไขสัญญาระหว่างกัน โดยให้เวลากับกลุ่มเป๊ปซี่ 15 วันนับตั้งแต่วันที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติในวันนี้ หรือภายในวันที่ 2 มี.ค.54 และต้องทำสัญญาฉบับใหม่ ภายในวันที่ 31 มี.ค. 54

"บริษัทต้องได้รับการยืนยันจากเป๊ปซี่ว่าตกลงยอมรับเข้าทำสัญญา ภายใน 15 วัน และต้องทำสัญญาฉบับใหม่ภายใน 31 มีนาคม 54 แต่ถ้าไม่ยอมตอบกลับมาภายในวันที่ 2 มีนาคม 54 ให้บริษัทบอกเลิกสัญญาระหว่างบริษัทกับเป็ปซี่ แล้วหลังจากนั้นใครจะเป็นพาร์ทเนอร์ ก็มาคุยกันใหม่" นายวรารัตน์ กล่าว

ทั้งนี้ การแก้ไขสาระสำคัญในสัญญา ได้แก่ กำหนดสูตรการคิดราคาค่าหัวน้ำเชื้อ โดย SSC เสนอให้คิดค่าหัวน้ำเชื้อลดลงประมาณร้อยละ 9 ต่อปีจากราคาภายใต้สัญญา EBA ปัจจุบัน แต่ทางกลุ่มเป๊ปซี่ส่งหนังสือกลับมาเมื่อ 28 ม.ค.ที่ผ่านมาว่าขอปรับเงื่อนสูตรการคิดค่าน้ำหัวเชื้อลดลงร้อยละ 8.2 ต่อปี จากราคาภายใต้สัญญา EBA ปัจจุบัน ส่วนที่บริษัทขอเปลี่ยนแปลงอำนาจควบคุม แต่ทางกลุ่มเป๊ปซี่ ยังยืนยันคงสิทธิเลิกสัญญาหากมีการเปลี่ยนแปลงอำนาจควบคุม

"บริษัทมีข้อกังวลอยู่ 2 ข้อ คือข้อตกลงเกี่ยวกับการควบคุมศักยภาพบริษัท ซึ่งบริษัทมีศักยภาพ และตลาดได้เปลี่ยนไปแล้ว ถ้าเกิดเราไม่เปลี่ยนและไม่ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ บอร์ดก็กังวล ...ปีนี้ค่าแรงขั้นต่ำก็ขึ้น ต้นทุนทุกอย่างก็ขึ้น ทั้งราคาน้ำตาล ราคาน้ำมัน ก็ขึ้นแต่เราไม่สามารถปรับราคาได้ ก็เลยขอลดสูตรน้ำเชื้อ"นายวรารัตน์ กล่าว

SSC มีรายจ่ายค่าต้นทุนน้ำเชื้อในปี 53 จำนวน 3,300 ล้านบาท ประกอบกับ อัตราแลกเปลี่ยนก็ได้เปลี่ยนแปลงจากสัญญาที่ทำไว้ ซึ่งต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ

นางสาวเพียงพนอ กล่าวว่า กลุ่มเป๊ปซี่มีเวลา 15 วันที่จะยืนยันตามข้อเสนอของ SSC แต่หากไม่ตอบหรือปฏิเสธ ที่ประชุมได้ให้อำนาจกับคณะกรรมการบริษัทในการยกเลิกสัญญาได้ทันทีหรือไม่เกิน 12 เดือน ซึ่งในระยะเวลา 12 เดือน ก็เริ่มดำเนินการต่างๆ โดยตามสัญญา Exclusive Bottling Appointment (EBA) ที่ทำสัญญากับเป๊ปซี่นั้น เป็นการใช้กฎหมายนิวยอร์ก ซึ่งจะมีที่ปรึกษาจากนิวยอร์กมาดูแล

"หากสัญญา EBA ยกเลิกได้โดยชอบก็ถือว่าจบ แต่หากยกเลิกโดยไม่ชอบ ก็ดำเนินการตามขั้นตอนของศาลว่าจะมีความเสียหายอย่างไร"นางสาวเพียงพนอ กล่าว

ขณะที่นายวรารัตน์ กล่าวอีกว่า ช่วงเวลา 12 เดือน เชื่อว่า SSC น่าจะหาพันธมิตรเข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์ธุรกิจได้ เช่น นักธรุกิจจากญี่ปุ่น เพราะเห็นว่าธุรกิจไทยมีศักยภาพและพูดคุยกันได้ แต่การที่มีสินค้าอื่นเข้ามาที่ไม่ต้องใช้น้ำตาลผลิตมากนักก็ทำให้ลดต้นทุนได้ด้วย เชื่อว่าจะยืนอยู่ได้ อย่างไรก็ดี SSC ไม่ได้มีวัตถุประสงค์แตกหักกับเป๊ปซึ่ ซึ่งเป๊ปซี่ยังมีเวลาเจรจาอีก 15 วัน

ในปี 53 ที่ผ่านมา SSC มียอดขายรวมมีประมาณ 2 หมื่นล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นยอดขายเป๊ปซี่ 70% หรือ 1.5 หมื่นล้านบาท แต่ net profit margin มีไม่ถึง 2% ในขณะที่ยอดขายจากน้ำดื่ม"คริสตัล"มี net profit margin สูงกว่าและอัตราการเติบโตของรายได้มีระดับ 17.5% ต่อปี

ขณะที่ กลุ่มเป๊ปซี่ และ เซเว่น-อัพ ถือหุ้นใน SSC กว่า 40% ถ้าบริษัทมีกำไรที่ดีขึ้น น่าจะส่งผลดีให้กับกลุ่มเป๊ปซี่และเซเว่น-อัพ

"ยอดขายไม่ได้บอกถึงความแข็งแกร่ง แต่สิ่งสำคัญคือกำไรจากการดำเนินงาน ซึ่งถ้าจะยกเลิก(สัญญากับเป๊ปซี่) ก็จะต้องให้เวลาในระหว่างนั้นบริษัทก็ยังมีเวลาเปิดตลาดหรือหาธุรกิจ หรือพาร์ทเนอร์อื่น แต่ ณ วันนี้อยู่ใต้สัญญา ไม่สามารถคุยหรือหาช่องทางได้เลย ซึ่งตอนนี้กำลังถูกไม่ให้ใช้ศักยภาพตัวเองเต็มที่"นายวรารัตน์ ตอบคำถามกับตัวแทนเซเว่น-อัพ ที่ตั้งคำถามว่าหากเลิกสัญญารายได้ 70% ที่มาจาเกป๊ปซีจะหายไปจะมีแผนอื่นนำรายได้มาชดเชยหรือไม่"

ปัจจุบัน เสริมสุขมีรายได้และทำกำไรจากการขายเครื่องดื่ม"คริสตัล" รวมทั้งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่ม"คาราบาวแดง" และ"ชาเขียวโออิชิ" ,น้ำผลไม้ "ทรอปิคาน่า" และ "ทวิตเตอร์"

นอกจากนี้ ระหว่างการประชุมผู้ถือหุ้นแสดงความกังวลอนาคตของเสริมสุขหากมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญากับเป๊ปซี่ โดย นายสมชาย บุลสุข ประธานคณะกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการ SSC กล่าวว่า ตนเองมั่นใจในธุรกิจและศักยภาพของ SSC


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ