นายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.กสท.โทรคมนาคม เตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทในเดือน มี.ค.54 พิจารณาอนุมัติให้ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC)ให้บริการ 3G เทคโนโลยี HSPA บนคลื่น 850 MHz ในเชิงพาณิชย์ได้ หลังจากที่มีการทดลองให้บริการมาในช่วงก่อนหน้านี้
กสท.เห็นว่าไม่ต้องตีความคณะกรรมการ มาตรา 22 ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมหรือดำเนินงานในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 หรือ พ.ร.บ.ร่วมทุน เนื่องจากจากการพิจารณาพบว่าไม่ใช่อำนาจของคณะกรรมการชุดดังกล่าว แต่เป็นเรื่องที่คณะกรรมการ กสท.สามารถทำได้ และเรื่องการให้ดำเนินการ HSPA เป็นเรื่องที่คณะกรรมการชุดเดิมตั้งแต่สมัยนายสิทธิไชย โภไคยอุดม อดีตรมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที)เคยอนุมัติไว้
“เรื่องนี้เป็นเรื่องเดิมที่บอร์ดเคยอนุมัติไว้อยู่แล้ว เรามาดำเนินการหลังจากเรื่องชงกันไปกันมาเรื่องมาตรา 22 แต่ตอนนี้ตรวจสอบแล้วว่าไม่ต้องเข้าคณะกรรมการมาตรา 22 ก็เสนอบอร์ดให้ดีแทค ดำเนินการได้หลังจากให้ทดลองในแบบไม่ใช่เชิงพาณิชย์ 1400 สถานีฐานก่อนหน้านี้"นายจิรายุทธ กล่าว
สำหรับกรณีการตรวจสอบสัญญาสัมปทานระหว่าง กสท.และ DTAC ตามที่ ครม.มอบหมายเมื่อวันที่ 1 ก.พ.54 นั้น กสท.ไม่พบความเสียหายจากการแก้ไขสัญญาสัมปทาน โดยได้แจ้งเรื่องต่อ รมว.ไอซีที ไปแล้ว ซึ่งทาง รมว.ไอซีทีจะเป็นผู้นำเสนอรายงานต่อครม.โดยบริษัทไม่จำเป็นต้องเข้าไปชี้แจง
นายจิรายุทธ กล่าวว่า การแก้ไขสัญญาสัมปทานระหว่าง กสท.และ DTAC แตกต่างจากสัญญาสัมปทานระหว่างทีโอที และบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส(ADVANC) เพราะการแก้ไขสัญญาของ DTAC มีการสร้างเงื่อนไขว่าต้องมีการช่วยขยายเลขหมายและการให้บริการ TRUEMOVE และ ดิจิตอลโฟน(DPC) ซึ่งเป็นคู่สัญญาสัมปทานของกสท.ด้วย
แต่ส่วนการหักภาษีสรรพสามิตจากส่วนแบ่งรายได้ ที่ระบุอยู่ในคำพิพาษาคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เมื่อวันที่ 26 ก.พ.53 ทำให้รายได้ของ กสท.ลดลงไป โดยรายได้จาก TRUEMOVE หายไป 6.7 พันล้านบาท, รายได้จาก DTAC หายไป 1.69 หมื่นล้านบาท และ รายได้ DPC หายไป 2.5 พันล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ