บมจ.เอ็มดีเอ็กซ์(MDX)คาดว่าผลประกอบการปี 54 ดีขึ้น รายได้น่าปรับขึ้น 10% จากปี 53 ที่มีรายได้ราว 470 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิคาดว่าใกล้เคียงกับปีก่อน แต่ปี 55 โอกาสรายได้จะเพิ่มขึ้นอีก 15-20% มาจากกำลังผลิตไฟฟ้าที่จะเข้ามาจากโครงการโรงไฟฟ้าน้ำเทินหินบุนส่วนต่อขยายในลาว และปี 60 โครงการน้ำงึม 3 ในลาวก็จะสร้างเสร็จและจะรับรู้รายได้ทันที
ผลประกอบการของ MDX ค่อยๆไต่ขึ้นมาอย่างมั่นคง เป็นสาเหตุสำคัญที่บริษัทเปลี่ยนมาเป็นธุรกิจพลังงานที่สร้างรายได้จากสัมปทานทีมีอายุนาน 30 ปีในแต่ละแห่ง ขณะเดียวกันธุรกิจขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ชิตี้ ก็ยังมีศักยภาพทำรายได้ต่อไป โดยปัจจุบันยังมีที่ดินในนิคมฯ 700 ไร่ และที่ดินที่รอการพัฒนาอีก 2 พันไร่
นายพิชญพงศ์ ณ บางช้าง กรรมการบริหาร MDX เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า ปีนี้บริษัทตั้งเป้ายอดขายที่ดินเพิ่มขึ้นเป็น 70 ไร่ จากปีก่อนที่ขายได้ 47 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาขายที่ดินในนิคมฯ กับธุรกิจเอสเอ็มอีจากญี่ปุ่นในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ประมาณ 3-4 รายคาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้
และมองว่าแนวโน้มนิคมอุตสาหกรรมจะดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะธุรกิจเอสเอ็มอีในญี่ปุ่นได้ทยอยย้ายฐานการผลิต โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวกับรถยนต์จากบริษัทผลิตรถยนต์รายใหญ่อย่างโตโยต้าก็อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ 625 ไร่
ส่วนธุรกิจไฟฟ้า แม้ว่าปีนี้รายได้ยังคงที่หรือใกล้เคียงปีก่อนที่มีรายได้ประมาณ 300 ล้านบาท แต่ในปี 55 รายได้จะเพิ่มขึ้นจากโครงการโรงไฟฟ้าน้ำเทินหินบูนส่วนต่อขยายในลาวที่จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเข้ามา 290 เมกะวัตต์หลังสร้างเสร็จปลายปี 54 รวมแล้วบริษัทจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น 850 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันอยู่ที่ 560 เมกะวัตต์ โดยมาจากโรงไฟฟ้าน้ำเทินหินบุน 210 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าบางบ่อ 350 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าส่วนขยายเทินหินบุนได้สัมปทานอายุ 30 ปีนับตั้งแต่ปีที่จ่ายไฟฟ้า หรือหมดอายุสัมปทานในปี 85 ขณะที่โรงไฟฟ้าในส่วนแรกที่ได้เริ่มจ่ายไฟฟ้าไปเมื่อปี 41 อายุสัมปทานจะสิ้นสุดลงในปี 71 และในปี 60 คาดว่าโครงการน้ำงึม 3 ที่มีกำลังการผลิต 440 เมกะวัตต์ จะสร้างเสร็จและเริ่มรับรู้รายได้ โดยมีอายุสัมทปานนาน 30 ปี หรือ หมดอายุในปี 90
"ส่วนขยายเทินหินบุน คาดว่าจะมีรายได้เข้ามาในเดือน ส.ค.2012(ปี 55)ก็จะทำให้รายได้เราเพิ่มมาเป็น 400 ล้านบาท"นายพิชญพงศ์ กล่าว
ปัจจุบัน โครงสร้างรายได้จะมาจากธุรกิจไฟฟ้า 60% ขายที่ดิน 15% รายได้จากสาธารณูปโภค 15% และธุรกิจบริหารจัดการ 10%
นอกจากนี้ บริษัทยังศึกษาลู่ทางการลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทน โดยในอดีตบริษัทเคยศึกษาโครงการโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์และเตรียมพร้อมจะลงทุนแล้ว แต่เมื่อนโยบายภาครัฐเปลี่ยน จึงทำให้โครงการหยุดชะงักไป เพราะไม่คุ้มค่าลงทุน อย่างไรก็ตาม ได้ศึกษาธุรกิจพลังงานอื่นไว้ด้วยเช่นกัน เช่น พลังงานลม หากมีโอกาสก็พร้อมที่จะเข้าไปลงทุน เพื่อเป็นส่วนเสริมกับธุรกิจโรงไฟฟ้าที่บริษัทดำเนินการมีอยู่
"ตอนนี้คนหันมาจับพลังงานทดแทนตามกระแสโลก เพราะอนาคต Green energy จะมา"นายพิชญพงศ์ กล่าว
*ยังไม่มีแผนล้างขาดทุนสะสม
นายพิชญพงศ์ กล่าวว่า การล้างภาระขาดทุนสะสมของบริษัทที่มีอยู่กว่า 3 พันล้านบาทขณะนี้ยังไม่มีแผนชัดเจน แต่ก็ได้มีการศึกษาไว้หลายแนวทาง อย่างไรก็ดี บริษัทยังอยู่ในกระบวนการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการที่คาดว่าจะสามารถออกจากแผนได้ในปี 60 จากที่บริษัทเริ่มเข้าสู่กระบวนการมาตั้งแต่ปี 46
"ตัวเลขขาดทุนสะสมได้คุยกันเรื่อยๆ เรื่องนี้เราวางไว้ก่อน กลัวว่าจะกลับมาขาดทุนใหม่ได้อีก ต้องรอให้มั่นใจจริงๆ ตอนนี้ยอมรับว่าฐานะยังไม่มั่นคงเพียงพอ"นายพิชญพงศ์ กล่าว
ปัจจุบัน บริษัทมีภาระหนี้ประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยจ่ายปีละประมาณ 100-200 ล้านบาทในช่วง 8 ปีนี้
อย่างไรก็ดี หลังจากเข้าแผนฟื้นฟูและเปลี่ยนธุรกิจหลักมาดำเนินธุรกิจพลังานแทน ทำให้บริษัทเริ่มเห็นแสงสว่าง และสามารถฟื้นตัวมากได้ ส่วนนิคมอุตสาหกรรมฯ บริษัทยังไม่ได้ทิ้ง หากยังมีแนวโน้มดีก็จะดำเนินการหรืออาจลงทุนเพิ่มก็เป็นไปได้