นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในฐานะประธานคณะกรรมการเจรจากรณีการแก้ไขสัญญาสัมปทานตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมการงานหรือดำเนินการกิจการ พ.ศ.2535 กล่าวว่า จากการหารือกับ บมจ.กสท.โทรคมนาคม และเอกชนผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ 3 รายที่เป็นคู่สัญญา มารับทราบกรอบเจรจา และได้มอบหมายให้กสทฯ และบริษัทคู่สัญญากลับไปคำนวณผลประโยชน์ที่รัฐพึงได้รับหากไม่มีการแก้ไขสัมปทาน และส่งกลับมายังคณะกรรมการเจรจาฯในวันที่ 25 ก.พ.นี้
“เราก็ให้ทั้งหน่วยงานของรัฐและ เอกชนไปประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นว่าการแก้ไขสัญญาสัมปทานสร้างความเสียหายต่อรัฐหรือไม่ในมุมมองของแต่ละฝ่าย และหากเสียหายก็ให้ชี้แจงเป็นเอกสารประเมินตัวเลขออกมาละนำมาเสนอในวันที่ 25 ก.พ.นี้"นางจีราวรรณ กล่าว
ทั้งนี้ เอกชน 3 รายที่เข้าหารือที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที)ในวันนี้ ได้แก่ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น(DTAC), บริษัท ทรูมูฟ จำกัด และ บริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด(DPC)
นางจีราวรรณ กล่าวว่า ภายหลังจากที่ส่งเรื่องกลับมาแล้ว คณะกรรมการเจรจาฯจะรวบรวมแนวทางทั้งหมด และเชิญ กสทฯพร้อมด้วยคู่สัญญาสัมปทานกลับมาหารืออีกครั้ง จากนั้นจะส่งข้อสรุปให้กับคณะกรรมการมาตรา 22 และมาตรา 13 พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมการงานหรือดำเนินในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 พิจารณาก่อน และคาดว่าจะสามารถนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้ในช่วงเสัปดาห์ที่ 1-2 ของเดือนมี.ค.54
"จากบรรยากาศการเจรจาแล้วดูว่าทุกฝ่ายยินดีที่จะแก้ปัญหาร่วมกัน ส่วนการขอขยายเวลาจากมติคณะรัฐมนตรีที่กำหนดว่าต้องสรุปผลใน 15 วัน อาจต้องมีการยื่นขอขยายเวลาพิจารณาออกไป"นางจิราวรรณ กล่าว
ทั้งนี้ คณะกรรมการเจรจาฯ จะยึดผลคณะกรรมการมาตรา 22 และมาตรา 13 พ.ร.บ.ร่วมทุนเป็นตัวตั้ง ซึ่งเอกชนต้องคำนวณมาว่าหากไม่มีการแก้ไขสัมปทานรัฐจะมีรายได้เท่าไหร่ ซึ่งรายละเอียดค่อนข้างมาก เพราะหากไม่มีการแก้ผลประโยชน์รัฐก็จะมีส่วนแบ่งรายได้อีกอย่าง แต่ในมุมกลับกลับหากเอกชนเห็นว่ารัฐได้ประโยชน์จากการแก้ไขสัมปทานก็ให้แจ้งข้อมูลมา เพราะคณะกรรมการเปิดให้เอกชนพิจารณาอย่างอิสระ และหากข้อเสนอทั้งหมดรับได้ทั้งสองฝ่าย ก็จะส่งให้ ครม.รับรองเพื่อยุติปัญหาทั้งหมด
ส่วนกรณีของบมจ.ทีโอที และ คู่สัญญา คือ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส(ADVANC) ซึ่งจะคณะกรรมการเจรจาฯได้นัดหารือในวันนี้ 17 ก.พ.54 กรอบเวลาก็จะเป็นในลักษณะเดียวกับคู่สัมปทานอื่นๆ โดยกำหนดให้ส่งข้อมูลในวันที่ 25 ก.พ.54 เช่นเดียวกัน
ด้านนายอธึก อัศวานันท์ รองประธานกรรมการและหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกฎหมาย บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น(TRUE) กล่าวว่า การประชุมวันนี้ยังไม่มีการสรุป แต่การเจรจาเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและราบรื่นโดย กสทฯ จะต้องเป็นผู้เสนอตัวเลขความเสียหายที่เกิดขึ้นและชี้แจงต่อคณะกรรมการ ขณะที่เอกชนจะกลับไปทำรายงานสูตรคำนวณรายได้และส่วนแบ่งทั้งก่อนและหลังจากที่มีการแก้ไขสัญญาสัมปทานเพื่อนำส่งในวันที่ 25 ก.พ.นี้
ในส่วนของ TRUE พร้อมให้ความร่วมมือเจรจาทุกด้านเพื่อให้การเดินหน้าแก้ไขสัญญาสัมปทานเป็นไปได้ด้วยดีและยุติปัญหาที่เกิดขึ้น