ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร MK ที่ระดับ BBB+ แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday February 17, 2011 11:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศยืนยันอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.มั่นคงเคหะการ(MK)ที่ระดับ “BBB+"ด้วยแนวโน้ม“Stable" หรือ“คงที่"

อันดับเครดิตสะท้อนถึงผลงานของบริษัทที่มีมาอย่างยาวนานในตลาดที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้ระดับปานกลางถึงต่ำ ตลอดจนความสามารถในการควบคุมต้นทุนค่าก่อสร้างให้อยู่ในระดับที่แข่งขันได้อย่างต่อเนื่อง และนโยบายทางการเงินที่ระมัดระวัง

การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศที่ยังไม่มีเสถียรภาพ ลักษณะที่เป็นวงจรขึ้นลงของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และการแข่งขันที่คาดว่าจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเนื่องจากผู้ประกอบการรายใหญ่ต่างซื้อที่ดินกันเป็นอย่างมากตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2553

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถดำรงอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนให้อยู่ในระดับที่ต่ำเอาไว้ได้ แม้บริษัทจะมีแผนการขยายธุรกิจต่อไป โดยที่ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจะได้รับแรงกดดันมากขึ้นจากการสิ้นสุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านภาษีของรัฐบาลและจากภาวะตลาดที่มีการแข่งขันรุนแรง ทั้งนี้ บริษัทควรจะดำรงกระแสเงินสดให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้เอาไว้

MK เป็นผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดกลางที่มีประสบการณ์ยาวนาน บริษัทก่อตั้งในปี 2516 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2533 กลุ่มตระกูลตั้งมติธรรมยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทในสัดส่วน 26% ณ เดือนสิงหาคม 2553 ในปี 2553 บริษัทเน้นพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยประเภทบ้านจัดสรรในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นหลักซึ่งประกอบด้วยบ้านเดี่ยวและบ้านแฝดในระดับราคาเฉลี่ยหลังละ 3.3 ล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทยังจัดสรรที่ดินเปล่าในราคาตารางวาละ 15,000-50,000 บาทด้วย บริษัทกลับมาพัฒนาทาวน์เฮ้าส์และคอนโดมิเนียมอีกครั้งในปี 2553 โดยราคาเฉลี่ยของทาวน์เฮ้าส์ 2 ชั้นอยู่ที่ 2.2 ล้านบาทต่อหลัง และทาวน์เฮ้าส์ 3 ชั้นอยู่ที่ 3.6 ล้านบาทต่อหลัง ส่วนราคาขายเฉลี่ยของคอนโดมิเนียมอยู่ที่ 40,000 บาทต่อตารางเมตร

รายได้ของบริษัทส่วนใหญ่มาจากการขายบ้านซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 87% ของรายได้รวมในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2553 ในขณะที่รายได้จากการขายที่ดินเปล่ามีสัดส่วนคิดเป็น 8% ความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทมาจากความสามารถในการบริหารต้นทุนค่าก่อสร้างซึ่งทำให้บริษัทมีอัตรากำไรในระดับที่น่าพอใจ

ยอดขายของบริษัทมั่นคงเคหะการอยู่ในระดับเกือบ 2,300 ล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2551-2553 แม้ว่ายอดขายบ้านลดลง 5% เป็น 2,179 ล้านบาทในปี 2553 แต่ยอดขายคอนโดมิเนียมมูลค่า 121 ล้านบาทช่วยผลักดันให้ยอดขายรวมของบริษัทอยู่ที่ระดับ 2,299 ล้านบาทเมื่อเทียบกับ 2,295 ล้านบาทในปี 2552

รายได้รวมของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 เท่ากับ 1,776 ล้านบาท ลดลง 5% จาก 1,869 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2552 ซึ่งเป็นผลมาจากยอดขายที่ดินเปล่าที่ต่ำลง ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2553 อ่อนตัวลงจากสาเหตุหลักคือการสิ้นสุดนโยบายการลดภาษีธุรกิจเฉพาะของรัฐบาลและบางส่วนจากกิจกรรมส่งเสริมการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขายของบริษัทหลังจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านภาษีของรัฐบาลสิ้นสุดลง บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานที่ปรับปรุงแล้ว 24.15% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 ลดลงจาก 30.69% ในปี 2552 และ 28.05% ในปี 2551

อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทสูงกว่าบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แม้ว่าผลประกอบการจะลดลง แต่ภาระหนี้ที่ต่ำก็ช่วยเสริมความเข้มแข็งให้แก่กระแสเงินสดของบริษัท บริษัทมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมเพิ่มขึ้นเป็น 44.19% (ยังไม่ได้ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปี) ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2553 จาก 41.04% ในช่วงเดียวกันของปี 2552 นอกจากนี้ การมีวงเงินสินเชื่อที่ยังไม่ได้เบิกใช้ประมาณ 1,000 ล้านบาทและอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนในระดับที่ต่ำ (15.12%) ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553 ก็ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้แก่สภาพคล่องของบริษัท

ภาวะตลาดที่อยู่อาศัยของไทยเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 และอยู่ในสภาวะทรงตัวตลอดปี 2553 อย่างไรก็ตาม ตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2553 ได้รับผลกระทบบางส่วนจากความวุ่นวายทางการเมืองภายในประเทศในช่วงไตรมาสที่ 2 และจากผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านภาษีของรัฐบาลที่สิ้นสุดลงในเดือนมิถุนายน 2553 ผู้ประกอบการรายใหญ่ยังคงมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่เพิ่มขึ้นต่อไป และส่วนใหญ่มีแผนการขยายธุรกิจเชิงรุกในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ดังนั้น ราคาที่ดินในทำเลที่ดีจึงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น

หลังสิ้นสุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านภาษีของรัฐบาล ความต้องการที่อยู่อาศัยจะขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ คาดว่าการเปลี่ยนแปลงในนโยบายอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV Ratio) ที่ประกาศโดยธนาคารแห่งประเทศไทยและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นน่าจะช่วยลดความต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อเก็งกำไรลงและส่งเสริมให้ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เติบโตอย่างมีคุณภาพมากขึ้นนับจากปี 2554 เป็นต้นไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ