นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.(PTT) กล่าวว่า การควบรวมกิจการของบมจ.ปตท.เคมีคอล (PTTCH) กับ บมจ.ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น(PTTAR)เพื่อจัดตั้งเป็นบริษัทใหม่จะทำให้บริษัทใหม่มีรายได้สูงถึง 4 แสนล้านบาทในปีนี้ และคาดว่ากำไรในปีนี้ก็จะเพิ่มขึ้นแน่นอน โดยจากการ Synergy จะทำให้ EBITDA เพิ่มขึ้นอีก 80-150 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี
อนึ่ง ปี 53 ทั้งสองบริษัทมีรายได้รวมกัน 3.7 แสนล้านบาทและมีกำไรรวมกัน 1.6-1.7 หมื่นล้านบาท
ขณะเดียวกัน บริษัทใหม่ก็จะมีโครงการลงทุนเพิ่มเติม 92 ล้านเหรียญ ซึ่งจะมีการผลิตผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้น รวมถึงการลดต้นทุนค่าใช้จ่าย
นายประเสริฐ กล่าวว่า การควบรวมกิจการทั้งสองบริษัทจะทำให้มีกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีรวม 8.2 ล้านตันต่อปี และกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมรวม 2.28 แสนบาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นครบวงจร ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในไทย และเป็นบริษัทชั่นนำหรืออันดับที่สองในภูมิภาคอาเซียน
อีกทั้งจะทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด(มาเก็ตแคป)ขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือประมาณ 3 แสนกว่าล้านบาท รองจากหุ้น PTT , PTTEP และ SCC และจะทำให้เป็นที่น่าสนใจของนักลงทุนต่างประเทศ และในประเทศ ขณะที่ PTT ในฐานะบริษัทแม่ของทั้งสองบริษัทก็จะคงถือหุ้นในบริษัทใหม่ ในสัดส่วนใกล้เคียงของเดิม โดยปัจจุบันถือใน PTTAR สัดส่วน 48.6% และ ถือหุ้นใน PTTCH สัดส่วน 48.9%
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน PTT กล่าวเสริมว่า PTT จะเข้าถือหุ้นบริษัทใหม่หลังการควบรวมในสัดส่วน 48-50% แต่หากผู้ถือหุ้นของ PTTAR และ PTTCH จะไม่ขายคืน PTT ก็พร้อมจะสนับสนุนในการรับซื้อคืนผู้ที่ไม่เห็นด้วย โดยจะรับซื้อหุ้น PTTCH ในราคาไม่เกิน 150 บาท/หุ้น และรับซื้อหุ้น PTTAR ในราคาไม่เกิน 39 บาท/หุ้น แต่ต้องได้รับมติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ PTT ก่อน แต่ในความเป็นจริง ผู้ถือหุ้นทั้งสองบริษัทคงจะขายในตลาดออกไปมากกว่า
ด้านนายวีรศักดิ์ โฆสิตไพศาล กรรมการผู้จัดการใหญ่ PTTCH กล่าวว่า การที่สองบริษัทได้ควบรวมกันจะทำให้บริษัทใหม่มีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีทั้งสายโอเลฟินส์และอะโรเมติกส์ เป็นการสร้างความสามารถในการแข่งขันและลดความเสี่ยงจาการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจปิโตรเคมี รวมทั้งยังเปิดโอกาสธุรกิจในอนาคต จะทำให้รายได้และผลประกอบการในอนาคตได้มั่นคงและไม่ผันผวนมากเกินไป และสามารถต่อยอดผลิตภัณฑ์ต่างๆได้จากการรวมธุรกิจ(Synergy)
นายบวร วงศ์สินอุดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTTAR กล่าวว่าจากการควบรวมกิจการจะทำให้มูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นจำนวน 535 - 1,055 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงระยะเวลา 15 ปี ( ณ อัตราคิดลด 10%) และยังดำเนินการแลกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ระหว่างกันประมาณ 7.65 แสนตันต่อปี
ทั้งนี้ การจัดสรรหุ้นของบริษัทใหม่ให้แก่ผู้ถือหุ้นของ PTTAR และ PTTCH มีอัตราส่วน คือ 1 หุ้นเดิมใน PTTAR ต่อ 0.501296791 หุ้นในบริษัทใหม่ และ 1 หุ้นเดิม ใน PTTCH ต่อ 1.980122323 หุ้นในบริษัทใหม่ หรือคิดเทียบเป็นเท่ากับการแลกหุ้น 1 หุ้น PTTCH ต่อ 3.95 หุ้น PTTAR
การดำเนินการควบรวมบริษัทน่าจะแล้วเสร็จและสามารถนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ได้ภายในไตรมาส 3/54 หรือเดือน ส.ค.-ก.ย.54 หลังจากนี้จะมีการนำเสนอข้อมูลต่อนักลงทุน (Roadshow) ในเดือน ก.พ.-มี.ค. 54 และในวันที่ 21 เม.ย.54 จะมีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อขอมติอนุมัติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 75% ของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียง และให้เวลาอ 2 เดือน ช่วงเม.ย.- มิ.ย.54 สำหรับเปิดโอกาสให้เจ้าหนี้คัดค้าน โดยเงินกู้ของทั้งสองบริษัทอยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว
*จะรวม IRPC ขอศึกษาก่อน
นายประเสริฐ กล่าวว่า การควบรวมกิจการอีก 2 บริษัท คือ บมจ.ไออาร์ซีพี (IRPC) และ บมจ.ไทยออยล์(TOP) นั้น ยังอยู่ในแผนโดยจะควบรวมกิจการของ IRPC ก่อนซี่งมีโรงงานอยู่ในพื้นที่เดียวกันที่จ.ระยอง อย่างไรก็ตาม การควบรวมกิจการต้องทำทีละขั้นตอน หลังจากควบรวมกิจการของ PTTAR และ PTTCH แล้วเสร็จ ก็จะมีการศึกษาการควบรวมกิจการ IRPC ต่อไป
"อนาคตอยู่ที่ผลการศึกษา และผลการควบรวมกิจการ PTTAR และ PTTCH ถ้ารวมอีกบริษัทหนึ่งอาจจะเร็วเกืนไป"นายประเสริฐ กล่าว