นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการผุ้อำนวยการใหญ่ บมจ. การบินไทย (THAI) คาดว่าในปี 54 บริษัทจะมีรายได้ 2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 53 ที่มีรายได้ 1.8 แสนล้านบาท จากการตั้งเป้าอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) ที่ระดับ 74% จากปี 53 ที่มี Cabin Factor อยู่ที่ 73.6%
ส่วนกำไรในปีนี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ คือ ราคาน้ำมันอากาศยาน เพราะหากทำรายได้ได้ตามเป้า แต่ราคาน้ำมันสูง กำไรก็คงจะไม่เพิ่มขึ้น โดยในปี 53 บริษัทมีกำไรก่อนอัตราแลกเปลี่ยนและภาษีเงินได้ ที่ 8.4 พันล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1.5 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ การบินไทยจะต้องติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด เนื่องจากปัจจุบันราคาน้ำมันมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาก ล่าสุดราคาน้ำมันปรับขึ้นมาประมาณ 130 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นผลจากสถานการณ์ความวุ่นวายในตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ทำประกันความเสี่ยง (headging) ไว้ระดับ 50% แล้ว และเตรียมจะปรับค่าธรรมเนียมน้ำมันหลังจากได้ปรับไปแล้วเมื่อวันที่ 17 ก.พ.ทีผ่านมา
"ราคาน้ำมันที่ผันผวนในระดับสูงนี้จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อต้นทุนการบิน เพราะสายการบินจะไม่สามารถปรับขึ้นค่าธรรมเนียมน้ำมันได้ทันกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ และแม้ว่าการบินไทยจะทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันสัดส่วนประมาณ 50% และได้กำไรจากการทำประกันในเดือนม.ค.-ก.พ.ที่ผ่านมาประมาณ 250 ล้านบาท แต่ก็ช่วยลดผลกระทบได้ส่วนหนึ่งเท่านั้น และเร็วๆนี้การบินไทยคงต้องปรับขึ้นค่าธรรมเนียมน้ำมัน แต่จะปรับเท่าใดนั้นต้องดูสายการบินคู่แข่งด้วย"นายปิยสวัสดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ สิ่งที่ธุรกิจสายการบินต้องการ คือ ราคาน้ำมันที่ไม่ผันผวน และทรงตัวอยู่ได้ไม่ว่าจะอยู่ในระดับสูงหรือต่ำ ทำให้สายการบินต้องทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน โดยการบินไทยอยู่ระหว่างพิจารณาการทำประกันความเสี่ยงเพิ่ม แต่จะเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับการประเมินราคาน้ำมันภายใน 1-2 วันนี้ว่าสถานการณ์ความวุ่นวายในตะวันออกจะลุกลามเพิ่มขึ้นหรือไม่ และทิศทางราคาน้ำมันจะเป็นอย่างไร
ส่วนเรื่องความคืบหน้าการซื้อหุ้นสายการบินนกแอร์จากธนาคารกรุงไทย(KTB)นั้น นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า ยังไม่ได้รับคำตอบจาก KTB หลังจากที่เสนอซื้อหุ้นในราคาหุ้นละ 30 บาท แต่ในส่วนของบริษัทอาจจะมีการทบทวนราคาซื้อหุ้นดังกล่าว เพราะมีความลังเลเรื่องความเหมาะสมของราคาหุ้นที่น่าจะลดลงได้อีก เนื่องจากปัจจัยการดำเนินงานของสายการบินนกแอร์เปลี่ยนไป โดยเฉพาะกรณีที่นกแอร์ไม่ได้ทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน ซึ่งมีผลให้มีต้นทุนสูง ขณะเดียวกันยังมีแผนซื้อเครื่องบินเพิ่ม ซึ่งต้องมีการเพิ่มทุนในอนาคต
สำหรับแผนการจัดตั้งสายการบินต้นทุนต่ำไทย ไทเกอร์ แอร์เวย์ส นั้น ยอมรับว่าการจัดตั้งจะล่าช้ากว่าแผน เนื่องจากไม่มีความคืบหน้าในการพิจารณาแผนการใช้เงินลงทุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการบินไทยยืนยันที่จะดำเนินการจัดตั้งสายการบินต่อไป