บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศผลอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 2,000 ล้านบาทของ บมจ.เอ็ม บี เค (MBK) ที่ระดับ “A" พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “A" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระคืนหุ้นกู้เดิมที่จะครบกำหนดในเดือนกรกฎาคม 2554
อันดับเครดิตสะท้อนถึงฐานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งขึ้นของบริษัทในธุรกิจให้เช่าพื้นที่ ตลอดจนการมีกระแสเงินสดที่แน่นอนจากธุรกิจให้เช่าพื้นที่ค้าปลีก ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับกลุ่มธนชาต รวมถึงความสามารถในการรักษาอัตราการก่อหนี้ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ และความยืดหยุ่นด้านการเงินที่ดีจากการลงทุนในหลักทรัพย์เผื่อขายจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม จุดเด่นดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากต้นทุนการดำเนินงานที่จะเพิ่มสูงขึ้นจากสัญญาเช่าที่ดินและทรัพย์สินของศูนย์การค้าฉบับใหม่ที่จะเริ่มในปี 2556 และการขยายสู่ธุรกิจสินเชื่อรถจักรยานยนต์
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable"หรือ“คงที่"สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะยังคงได้รับกระแสเงินสดที่แน่นอนจากธุรกิจให้เช่าพื้นที่ค้าปลีก ซึ่งจะช่วยชดเชยผลการดำเนินงานที่อ่อนแอในธุรกิจโรงแรมได้ และคาดว่าบริษัทจะรักษาระดับคุณภาพสินเชื่อรถจักรยานยนต์เอาไว้ในระดับที่ดีจากการมีขั้นตอนการพิจารณาสินเชื่อและกระบวนการจัดเก็บหนี้ที่เข้มงวด ทั้งนี้ แผนรายจ่ายฝ่ายทุนที่อยู่ในระดับปานกลางในปี 2553-2554 ทำให้คาดว่าบริษัทจะยังคงสามารถรักษาอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนในระดับปัจจุบันเอาไว้ได้
MBK ก่อตั้งในปี 2517 ปัจจุบัน บมจ.ทุนธนชาต (TCAP) และบริษัทในเครือเป็นผู้ถือหุ้นหลักของบริษัทในสัดส่วนรวม 20% บริษัทดำเนินธุรกิจพื้นที่ค้าปลีกให้เช่า โรงแรม สนามกอล์ฟ พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย โรงสีข้าว และธุรกิจการเงิน โดยเป็นเจ้าของและบริหารจัดการศูนย์การค้า “เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์" ซึ่งเป็นศูนย์การค้าที่มีชื่อเสียงตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ แม้จะมีธุรกิจที่หลากหลาย
แต่ผลประกอบการของบริษัทยังคงขึ้นอยู่กับสินทรัพย์หลักอย่างศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ และ “โรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส" เป็นอย่างมาก ซึ่งสินทรัพย์ดังกล่าวตั้งอยู่บนที่ดินเช่าติดกับย่านสยามสแควร์ในกรุงเทพฯ โดยในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมาสามารถสร้างรายได้ประมาณ 40% และกระแสเงินสดประมาณ 65% ให้แก่บริษัท
เพื่อลดความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของรายได้ บริษัทได้ขยายการลงทุนในธุรกิจให้เช่าพื้นที่ค้าปลีกเพิ่มขึ้น โดยมีสัดส่วนการลงทุน 31% ใน บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของและบริหารศูนย์การค้าในย่านสยามสแควร์ โดยบริษัทสยามพิวรรธน์เป็นผู้ถือหุ้น 100% ในศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ (18,700 ตารางเมตร, ตร.ม.) และศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่เซ็นเตอร์ (24,890 ตร.ม.) และถือหุ้น 50% ในศูนย์การค้าสยามพารากอน (186,010 ตร.ม.)
นอกจากนี้ บริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทและบริษัทสยามพิวรรธน์ในสัดส่วน 50% ยังได้ทำการปรับปรุงตกแต่งพื้นที่ให้เช่าของ “ศูนย์การค้าพาราไดซ์พาร์ค" (เดิมชื่อ “ศูนย์การค้าเสรีเซ็นเตอร์") พื้นที่ 90,000 ตร.ม. จนแล้วเสร็จและเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในเดือนกรกฎาคม 2553
ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการพัฒนาศูนย์การค้าชุมชน (Community Mall) แห่งแรกของบริษัท ซึ่งตั้งอยู่บนถนนพระราม 9 โดยมีเป้าหมายที่จะเปิดดำเนินการในช่วงกลางปี 2554 ณ เดือนธันวาคม 2553 บริษัทบริหารพื้นที่ค้าปลีกสุทธิ 192,786 ตร.ม. โดยพื้นที่จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยภายหลังการเปิดให้บริการศูนย์การค้าชุมชน การซื้ออาคารสำนักงานขนาด 8,223 ตร.ม. เมื่อเดือนมิถุนายน 2553 ส่งผลให้บริษัทมีพื้นที่อาคารสำนักงานให้เช่ารวม 48,921 ตร.ม.
นอกจากธุรกิจพื้นที่ให้เช่าแล้ว ในเดือนเมษายน 2553 MBK ยังซื้อกิจการของ บริษัท ที ลีสซิ่ง จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจสินเชื่อรถจักรยานยนต์ด้วย โดย ณ เดือนธันวาคม 2553 บริษัทที ลีสซิ่ง มียอดสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์คงค้าง 796 ล้านบาท จัดว่าเป็นสินเชื่อที่มีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์ดีจากการมีอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ระดับ 3.55% อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการควบคุมคุณภาพสินเชื่อไปพร้อม ๆ กับการขยายขนาดสินเชื่อนับเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับบริษัทเอ็ม บี เค
แม้ว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยจะได้รับผลกระทบจากภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเหตุการณ์ความไม่สงบของการเมืองภายในประเทศ แต่ MBK ก็ยังมีผลประกอบการในระดับที่ยอมรับได้ โดยบริษัทมีรายได้อยู่ที่ 5,800 ล้านบาทในช่วง 3 ปีบัญชีล่าสุด และในช่วง 6 เดือนแรกของปีบัญชี 2553/2554 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2553) บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น 28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 3,708 ล้านบาทภายหลังการเปิดศูนย์การค้าพาราไดซ์พาร์คและการเริ่มให้บริการธุรกิจการเงิน และมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 567 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทลดลงเล็กน้อยจาก 29.84% ในปีบัญชี 2552/2553 เป็น 29.08% ในช่วง 6 เดือนแรกของปีบัญชี 2553/2554 เงินทุนจากการดำเนินงานคงอยู่ที่ระดับ 1,700-1,800 ล้านบาทในช่วง 3 ปีบัญชีที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นอย่างมากเป็น 3,458 ล้านบาทในปีบัญชี 2552/2553 ซึ่งเป็นผลมาจากการให้เช่าพื้นที่ระยะยาวในศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ในช่วงปลายปี 2552 ซึ่งทำให้บริษัทมีกระแสเงินสดรับเพิ่มขึ้น 3,000 ล้านบาท ส่งผลให้อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมปรับตัวดีขึ้นจาก 22.53% ในรอบปีบัญชี 2551/2552 เป็น 45.47% ในปีบัญชี 2552/2553
แม้ว่าเงินกู้รวมของบริษัทจะเพิ่มขึ้นจาก 7,604 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2553 เป็น 8,155 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2553 แต่อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุน ณ เดือนธันวาคม 2553 ค่อนข้างคงที่ที่ระดับ 38.63% นอกจากนี้ ในปีบัญชี 2552/2553 บริษัทยังรับรู้กำไรจากการจำหน่ายเงินลงทุนจำนวน 2,233 ล้านบาทซึ่งจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้มีมากขึ้น และ ณ เดือนธันวาคม 2553 บริษัทยังมีเงินลงทุนชั่วคราวอีกจำนวน 5,572 ล้านบาทด้วย