(เพิ่มเติม) BANPU คาดปี 54 ยอดขายโต 40% แตะ 9 หมื่นลบ.,ออกหุ้นกู้ 1.5 หมื่นลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday March 4, 2011 18:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู (BANPU) คาดว่ารายได้จากการขายรมในปี 54 เติบโตประมาณ 40% หรือเพิ่มเป็น 9 หมื่นล้านบาท จาก 6.5 หมื่นล้านบาท เนื่องจากประเมินว่าปริมาณการผลิตและขายถ่านหินในปีนี้จะเพิ่มมาอยู่ที่ประมาณ 44-45 ล้านตัน จาก 25.9 ล้านตันในปี 53

ทั้งนี้ ปริมาณถ่านหินจะมาจากแหล่งเหมืองในอินโดนีเซียประมาณ 26 ล้านตัน และจากเหมืองในออสเตรเลียประมาณ 18-19 ล้านตัน หลังการเข้าซื้อกิจการบริษัท Cotennail Coal ในออสเตรเลีย

ขณะที่บริษัทคาดว่าราคาขายถ่านหินเฉลี่ยในปีนี้จะสูงกว่า 80 เหรียญสหรัฐ/ตัน จากปีก่อนที่มีราคาขาย 74.65 เหรียญสหรัฐ/ตัน เนื่องจากราคาถ่านหินในตลาดภูมิภาคยังอยู่ในภาวะที่ดีต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา และความต้องการใช้ถ่านหินยังคงอยู่ในระดับสูงเช่นกัน โดยเฉพาะจากจีนและอินเดีย โดยประเมินว่าความต้องการตลาดโลกในปีนี้อยู่ที่ 750 ล้านตัน เพิ่มจากปีก่อนที่มีความต้องการ 683 ล้านตัน

"ประเมินว่าราคาขายเฉลี่ย 90 เหรียญ/ตัน โดยมีราคาขายถ่านหินที่กำหนดราคาไว้แล้ว 82 เหรียญ/ตัน สัดส่วน 40% ส่วน 37% ขายตาม Index และส่วนที่ยังไม่ได้กำหนดราคามีสัดส่วน 23% แต่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นถ่านหินคุณภาพต่ำ" นายชนินท์ กล่าว

ทั้งนี้ ขณะนี้บริษัทได้ขายล่วงหน้าถ่านหินในปีนี้ไปแล้วประมาณ 40% จากปกติที่เคยขายล่วงหน้า 60%ในช่วงเวลาเดียวกัน เพราะมองว่าแนวโน้มราคาถ่านหินจะปรับตัวสูงขึ้น

นายชนินท์ คาดว่า ในไตรมาส 1/54 จะมีรายได้จากการขายประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท สูงขึ้นจากไตรมาส 1/53 ที่มีรายได้จากการขาย 1.3 หมื่นล้านบาท เนื่องจากปีนี้มีปริมาณถ่านหินจากออสเตรเลียเพิ่มเข้ามา อีก 4 ล้านตัน รวมกับปริมาณในอินโดนีเซียที่ 5.5 ล้านตัน ทำให้ปริมาณเพิ่มเป็น 9.5 ล้านตัน

อย่างไรก็ดี แม้ว่าปริมาณและราคาขายถ่านหินในปีนี้ปรับสูงขึ้น แต่ต้นทุนการผลิตถ่านหินได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกันตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับขึ้นต่อเนื่อง และจากการทำเหมืองในระดับที่ลึกขึ้น รวมถึงการปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตในส่วนผู้รับเหมาและเครื่องจักร นอกจากนี้ คาดว่าการรับรู้กำไรจากธุรกิจในออสเตรเลียจะยังไม่มากนัก เนื่องจากมีต้นทุนทางการเงินและค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่าย เป็นต้น จึงคาดว่ากำไรจากการดำเนินงานในปีนี้จะเติบโตไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับยิดขาย แต่จะอยู่ในระดับที่ดีกว่าปี 53

สำหรับแผนลงทุนในปี 54 บริษัทได้เตรียมเงินลงทุน 140 ล้านเหรียญ แบ่งเป็นการลงทุนในอินโดนีเซีย 120 ล้านเหรียญ ส่วนใหญ่จะใช้ในการพัฒนาเหมืองบารินโต และเหมืองทรูบาอินโด และที่เหลืออีก 20 ล้านเหรียญจะใช้เป็นงบลงทุนงวดสุดท้ายในการพัฒนาเหมืองเกาเหอในประเทศจีน ซึ่งจะมีกำหนดเริ่มการผลิตเชิงพาณิชย์ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้

นายชนินท์ กล่าวว่า จากที่เหมืองต้าหนิงในจีนได้หยุดการผลิตไปเมื่อ ม.ค. 54 จนถึงปัจจุบัน เพราะยังไม่รับใบอนุญาต ทำให้คาดว่าปีนี้อาจจะผลิตได้ 3.5 ล้านตันใกล้เคียงปีก่อน ซึ่งหยุดการผลิตไป 3 เดือนช่วง มิ.ย.-ส.ค.53 และคาดว่าในปี 54 เหมืองต้าหนิงจะมีกำไรใกล้เคียงปีที่แล้วที่มีกำไรประมาณ 2.5 พันล้านบาท

ขณะเดียวกัน บริษัทกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาทางเลือก 3-4 แนวทางในการลงทุนในธุรกิจเหมืองในจีน

"เรากำลังดูมาตรการทางการ เรามีทางเลือก 3-4 ทาง ผมยังตอบไม่ได้ ว่ามีข้อดีข้อเสียต่างกัน คือคิดว่าต้องทำให้ผลกระทบโดยรวมน้อย และทำให้กลยุทธ์ในจีนเดินต่อไปได้ดี "นายชนินท์ กล่าว

ปัจจุบัน BANPU มีการลงทุนในเหมืองถ่านหินในจีน 3 แห่ง ได้แก่ ต้าหนิง (ถือหุ้น 56%) , เหอปี้ (40%) และ เกาเหอ (45%)

ทั้งนี้ อัตราการเติบโตของ BANPU ในช่วง 5 ปีข้างหน้า (54-58) คาดว่าจะมีอัตราเฉลี่ยประมาณ 12-13% ต่อปี โดยรวมแผนกลยุทธ์ระยะยาวที่เน้นธุรกิจถ่านหินมากขึ้น โดยรวมแผนกลยุทธ์ระยะยาวเน้นธุรกิจถ่านหินมากขึ้น และคาดว่าในปี 58 สัดส่วนธุรกิจถ่านหินจะอยู่ที่ประมาณ 85-90% ส่วนธุรกิจไฟฟ้ารวมทั้งพลังงานใหม่จะอยู่ที่ประมาณ 10-15%ของมูลค่าธุรกิจ

นายชนินทน์ กล่าวว่า บริษัทได้ยื่นขออนุญาตต่อสำนักคณะกรรมการกำหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เพื่อออกหุ้นกู้ชุดใหม่ อายุ 7 ปี, 10 ปี และ 12 ปี รวมมูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปชำระคืนเงินกู้สถาบันการเงิน และใช้ในการลงทุน รวมทั้งใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน โดยจะเสนอขายหุ้นกู้ดังกล่าวให้กับนักลงทุนทั่วไป ผู้ลงทุนสหกรณ์ และสถาบัน

บริษัทคาดว่าจะเปิดให้จองซื้อในปลายเดือนมี.ค. นี้หลังทำ Book Build แล้ว โดยแบ่งเสนอขายหุ้นกู้อายุ 7 ปี จำนวน 7 พันล้านบาท , อายุ 10 ปี จำนวน 5 พันล้านบาท และ อายุ 12 ปี จำนวน 3 พันล้านบาท ซึ่งจะเสนอขายผ่าน ธ.กรุงเทพ ธ.กสิกรไทย ธ.กรุงไทย และ ธ.ไทยพาณิชย์

"การออกหุ้นกู้จะทำให้เราสามารถลดภาระการชำระคืนเงินต้นในอีก 5 ปีข้างหน้าและมีหนี้ที่มีต้นทุนคงที่ในสัดส่วนที่มากขึ้น"นายชนินท์ กล่าว

สิ้นปี 53 บริษัทมีเงินกู้ในรูปเงินบาทที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ 9% และเงินกู้ที่มีอัตราดอกเบี้ยลอยตัวทั้งในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ดอลลาร์ออสเตรเลีย และเงินบาท มีสัดส่วนรวม 91% ซึ่งหลังการออกหุ้นกู้แล้วจะเพิ่มสัดส่วนของเงินกู้ในรูปเงินบาทที่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่เป็น 27% และจะลดสัดส่วนเงินกู้ดอกเบี้ยลอยตัวในรูปเงินบาทและดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ ในช่วงปลายปี 57 ถึงต้นปี 58 บริษัทจะชำระหนี้จำนวน 255 เหรียญสหรัฐ โดยมีวงเงินกู้รวม 9 หมื่นล้านบาท เพิ่มจากปีก่อนที่มี 3 หมื่นล้านบาท ทำให้หนี้สินสุทธิต่อทุน (Net D/E)ในปีนี้ปรับขึ้นมาเป็น 1.06 เท่าจาก 0.16 เท่าในปีก่อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ