นายสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารธนชาต เปิดเผยว่า ในปี 54 คาดว่ากำไรจากการดำเนินงานจะสูงกว่าปี 53 เนื่องจากการควบรวมกิจการกับธนาคารนครหลวงไทย (SCIB) ทำให้การดำเนินธุรกิจขยายตัวได้มากขึ้น มีความแข็งแกร่งมากขึ้น แต่เนื่องจากปีนี้ธนาคารต้องมีรายการพิเศษเป็นค่าใช้จ่ายจากการควบรวมกิจการ ดังนั้น หากกำไรสุทธิปีนี้ใกล้เคียงปี 53 ที่มีกำไรสุทธิ 8,700 ล้านบาท ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจแล้ว
"ปีนี้กำไรเราโตกว่าปีก่อนแน่นอน แต่ปีนี้เรามีรายการพิเศษเป็นค่าใช้จ่ายจากการควบรวมกิจการ ดังนั้นปีนี้แค่กำไรใกล้เคียงปีก่อน หรือน้อยลงกว่าปีก่อนนิดหน่อย เราก็พอใจแล้ว"นายสมเจตน์ กล่าว
สำหรับแผนธุรกิจในปี 54 ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อเติบโต 8-10% เป็นการขยายตัวทั้งสินเชื่อ Corperate , Retail และ SMEs โดยประมาณการว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตได้ดีที่อัตรา 5-7% และอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3.5% ซึ่งจะใช้โอกาสจาก 2 ธนาคารเดินหน้าดำเนินธุรกิจด้วยกัน จากการที่เศรษฐกิจเติบโตได้ดีจากการบริโภคในประเทศที่ได้ผลดีจากราคาสินค้าเกษตรที่มีราคาดี ส่งผลต่อรายได้เกษตรกร รวมถึงการลงทุนภาคเอกชนและการส่งออกที่ขยายตัวได้ดี ทำให้ธุรกิจลูกค้าบุคคลเติบโตได้ดีในปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ หลังการควบรวมกิจการ ทรัพย์สินของธนาคารเติบโตขึ้นมาก มีสินทรัพย์รวม 872,000 ล้านบาท ก้าวขึ้นเป็นธนาคารอันดับ 5 ของประเทศ สะท้อนความแข็งแกร่งด้านเงินทุน ขณะที่ธนาคารตั้งเป้าอีก 2-3 ปีจะมีสินทรัพย์เพิ่มเป็น 1 ล้านล้านบาท ซึ่งจะต้องทำให้สินเชื่อเติบโตเฉลี่ยปีละ 11% ROE เฉลี่ยควรอยู่ที่ 12.5% แต่ในปี 53 ROE อยู่ที่ 15.5% แล้ว เนื่องจากมีรายการพิเศษจากการขายทรัพย์สิน และผลจากการทำงานในช่วงปีก่อนหน้า
"ในปีนี้เราจะเพิ่มธุรกรรมในการให้บริการลูกค้า ขยายทั้งลูกค้ารายย่อย คอร์เปอเรท และ เอสเอ็มอี โดยจะมีการต่อยอดบัตรเครดิต ปีนี้จะทำเพิ่มอีก 1.5-2 แสนใบ และสินเชื่อส่วนบุคคล แฟลชการ์ด เพิ่มอีก 1-1.5 แสนใบ...เรื่องการเมืองแม้ยังไม่นิ่ง แต่หากยังอยู่ในระบบก็ไม่เป็นไร" นายสมเจตน์ กล่าว
สำหรับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปัจจุบันมีประมาณ 25,000 ล้านบาท จะมีการตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) ขึ้นมาบริหารหนี้เสียเป็นการเฉพาะ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการขออนุญาตจากธปท. คาดว่าจัดตั้งได้ มิ.ย. 54 โดยจะมีการแยก bad bank ออกจาก good bank เพื่อแก้หนี้เสียเป็นการเฉพาะ โดย AMC ที่ตั้งขึ้นจะบริหารหนี้เสียของธนาคารเท่านั้น ยังไม่มีนโยบายในการรับซื้อ หรือรับจ้างบริหารหนี้เสียจากสถาบันการเงินอื่น
*ความคืบหน้าการควบรวมกิจการ SCIB
นายสมเจตน์ กล่าวว่า ขณะนี้ดำเนินตามขั้นตอนไปแล้วกว่า 99.95% โดยธนาคารดำเนินการใน 3 ด้านเพื่อให้การควบรวมเป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยการปฏิบัติตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท) และ พ.ร.บ.สถาบันการเงิน ซึ่ง ธปท.ได้กำหนดให้มีการส่งแผนปฎบัติการดำเนินธุรกิจเพื่อให้การควบรวมกิจการราบรื่นและสร้างความมั่นใจต่อประชาชน ธนาคารจึงได้จัดส่งแผนต่อ ธปท.ตั้งแต่ พ.ย.53 คาดว่าจะได้รับอนุมัติภายใน มี.ค.54 จากนั้นจะนำแผนเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นของธนาคาร 2 แห่ง คาดว่าจะได้รับอนุมัติก่อนวันสงกรานต์
การควบรวมงานด้านต่าง ๆ นั้น ธนาคารโนวาสโกเทีย ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่จะนำผู้เชี่ยวชาญจากแคนาดาจัดตั้งทีมงาน 30 ทีม เพื่อพิจารณาการทำธุรกรรมแต่ละด้าน โดยจะมีการนำระบบเทคนิคต่างๆ และด้านไอทีมาใช้สนับสนุน โดยมีผู้บริหารธนาคาร 2 แห่ง ร่วมกันดำเนินงาน คาดว่าทุกอย่างจะแล้วเสร็จในกลางปี 54 และจะเริ่มทดสอบระบบการทำงานในไตรมาส 3/54
จากนั้นภายในเดือน ต.ค.54 ลูกค้าของทั้ง 2 ธนาคารจะสามารถใช้บริการทำธุรกรรมฝาก-ถอน ได้ที่สาขาทั้ง 2 ธนาคาร และในช่วงเวลาเดียวกันจะมีการเปลี่ยนป้ายชื่อธนาคารนครหลวงไทย เป็นธนาคารธนชาตทั้งหมด ขณะที่การทำธุรกรรมเกี่ยวกับสินเชื่อและอื่นๆ จะทยอยดำเนินการ คาดว่าแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1/55 ซึ่งจะทำให้การควบรวมกิจการเสร็จสมบูรณ์ 100%
"ต.ค.นี้ จะเป็นวันที่ลูกค้าบุคคลที่ทำธุรกรรมได้ที่สาขาแบงก์ไหนก็ได้ทั่วประเทศ และจะมีการเปลี่ยนป้ายชื่อ ธ.นครหลวงไทย เป็น ธนาคารธนชาต" นายสมเจตน์ กล่าว
ส่วนพนักงาน หลังการควบรวมกิจการแล้วปัจจุบัน ธนาคารมีพนักงานกว่า 17,000 คน มีสาขา 678 แห่งทั่วประเทศ และมีลูกค้ารวมกว่า 3.8 ล้านคน ซึ่งธนาคารได้มีการสื่อสารชี้แจงทำความเข้าใจกับพนักงานในแต่ละสาขาทั้งหมดเกี่ยวกับแนวทางการทำงาน และยังไม่มีนโยบายที่จะลดพนักงาน ขณะเดียวกันจะมีการ renovate สาขาบางแห่ง เพื่อให้บริการที่ดีและครบวงจรมากขึ้น และจะทยอยปรับปรุงสาขาให้ครบทุกแห่งได้หมดภายใน 2 ปี โดยจะไม่มีการเปิดสาขาใหม่เพิ่มอีก
ในส่วนของบริษัทในเครือของธนาคารนครหลวงไทยนั้น ในส่วนของ บล.นครหลวงไทย ได้มีการดำเนินการควบรวมกิจการกับ บล.ธนชาตเสร็จสมบูรณ์แล้ว โดยมีการนำระบบไอทีมาใช้ร่วมกัน เนื่องจากเป็นการวางระบบได้ดีอยู่แล้ว ขณะนี้อยู่ในช่วงการสำรวจตลาด เกี่ยวกับความต้องการของนักลงทุน
ส่วน บลจ.นครหลวง ธนาคารถือหุ้น 66% ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ เกี่ยวกับนโยบายแนวทางการบริหารจัดการบริษัท คาดว่าจะมีความชัดเจนใน 2-3 เดือน และธุรกิจประกันภัย ธนาคารไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้น 100% ดังนั้นจะไม่มีการดำเนินการใดๆ เพราะต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้ถือหุ้นใหญ่ ส่วนธุรกิจประกันชีวิต ธนาคารถือหุ้น 100% ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ
นายสมเจตน์ กล่าวว่า ขณะที่ บมจ.ราชธานีลิสซิ่ง (THANI) ธนาคารถือหุ้น 48% ยังไม่มีนโยบายขายหุ้นออก โดยธนาคารยังคงให้การสนับสนุนทางการเงินต่อไปเพื่อขยายธุรกิจ และจะมีการหารือกับผู้ถือหุ้นใหญ่รายอื่นๆ เกี่ยวกับนโยบายของบริษัท ซึ่งมีแนวโน้มที่น่าจะสามารถทำงานร่วมกันได้ดีเพื่อขยายตลาดลิสซิ่ง เพราะความซับซ้อนทางธุรกิจมีไม่มาก จึงน่าจะช่วยเสริมกิจการให้เติบโตต่อไปได้ คาดว่าจะมีความชัดเจนภายใน 3-4 เดือน
"บริษัทที่เราไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ก็ต้องถามผู้ถือหุ้นใหญ่ว่าจะเดินอย่างไร เราจะทำอะไรไมได้ เพราะผู้ถือหุ้นใหญ่จะกระทบหลายอย่าง จึงจำเป็นต้องพูดคุยในรายละเอียดให้เข้าใจก่อน" นายสมเจตน์ กล่าว