โบรกเกอร์ส่วนใหญ่ แนะ"ซื้อ"หุ้น บมจ.ฮานา ไมโครอิเล็กทรอนิคส์(HANA)คาดปี 54 ยอดขายยังเติบโตต่อเนื่องจากปี 53 ประมาณ 10% แม้ว่าในช่วงครึ่งปีแรกยอดขายจะอ่อนตัวลงตามคำสั่งซื้อที่ชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 4/53 และยังมีผลกระทบจากบาทแข็งค่า
ทั้งนี้ เชื่อว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นในครึ่งปีหลัง และมีโอกาสได้คำสั่งซื้อเพิ่มเติมในผลิตภัณฑ์ใหม่ แต่ต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นกดดันมาร์จิ้นของบริษัทที่ส่งผลให้กำไรสุทธิลดลงประมาณ 5-8% จากปีก่อน
อย่างไรก็ดี เห็นว่าราคาหุ้นยังมีระดับราคาถูกเมื่อเทียบกับหุ้นอื่นในกลุ่มเดียวกัน โดยมีการเทรดอยู่ระดับ P/E ที่ 7-8 เท่า และยังมีอัตราผลตอบแทนปันผลที่สูง ระดับ 6% นอกจากนี้ยังเป็นบริษัทที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง ปลอดหนี้สิน
ปิดช่วงเช้า ราคา HANA อยู่ที่ 26.50 บาท ราคาไม่เปลี่ยนแปลง
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย(บาท) บล.ธนชาต ซื้อ 34.00 บล.กสิกรไทย ซื้อ 32.00 บล.กรุงศรีอยุธยา ซื้อ 31.00 บล.ฟิลลิป ซื้อ 30.75 บล.เอเซียพลัส ถือ 28.22
นายสิทธิเดช ประเสริฐรุ่งเรือง ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.กรุงศรีอยุธยา คาดว่า HANA จะมีการเติบโตต่อเนื่องในปีนี้จนถึงปีหน้า ฐานะการเงินก็แข็งแกร่งไม่มีหนี้สิน ประกอบกับ ราคาหุ้นยังถูก โดยซื้อขายในตลาดระดับ P/E ที่ 7 เท่า ซึ่งเกือบต่ำสุดในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และมีผลตอบแทนจากเงินปันผล 6.5% เป็นระดับที่น่าพอใจ
แม้ว่าผลประกอบการในครึ่งแรกปี 54 ไม่ค่อยดี อาจจะ underperform โดยคาดว่าจะมีกำไรสุทธิประมาณ 18% ของประมาณการกำไรสุทธิปี 54 เพราะมีการชะลอคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ IC ตั้งแต่ไตรมาส 4/53 ต่อเนื่องถึงไตรมาสแรกนี้ แต่คาดว่ายอดคำสั่งซื้อจะกลับมามากในไตรมาส 3-4 ในปีนี้
นอกจากนี้ คาดว่า HANA จะเติบโตจากผลิตภัณฑ์ใหม่ในครึ่งปีหลัง โดยจะเริ่มผลิตจำนวนมากผลิตภัณฑ์ PCBA ที่เกี่ยวข้องกับ Test Equipment รวมถึงลูกค้า Outsource ทั้งรายเดิมและรายใหม่ซึ่งคาดว่าจะเป็นรายใหญ่ระดับ TOP 5 ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดรายละประมาณ 10% ของยอดขายรวม 1.8 หมื่นล้านเหรียญ ซึ่งจะทำมากในอีก 2-3 ปีข้างหน้าอย่างเห็นได้ชัด
ทั้งนี้ ในปี 54 ประเมินมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,854 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% จากปีก่อน
"เรามองว่า เงินปันผล , P/E ต่ำ รองรับความผันผวนได้ ไม่ว่าบริษัทจะขยายกำลังการผลิตหรือไม่ขยาย ก็ถือว่าหุ้นถูกแล้ว อย่างน้อยก็มองว่า ตลาด low expection กับหุ้นตัวนี้ ถ้าเกิดบริษัทไม่ขยายการผลิตก็เสมอตัวคงไม่ลงมากไปกว่านี้ แต่ถ้าขยายก็เป็น upside ที่ราคาอาจปรับขึ้นในอนาคต"นายสิทธิเดช กล่าว
ด้านนางสาวนารี อภิเศวตกานต์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป(ประเทศไทย) คาดว่า ยอดขายในปี 54 จะเติบโต 10% เป็น 588 ล้านเหรียญ จากปีก่อนที่มียอดขาย 535 ล้านเหรียญ โดยคาดว่าในครึ่งปีแรก ยอดขายและกำไรจะน้อยกว่าในครึ่งปีหลัง รวมทั้งยังมีผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า
ขณะที่ คาดว่ากำไรสุทธิทั้งปีอยู่ที่ 2,619 ล้านบาทหรือลดลง 5% จากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 2,749 ล้านบาท และปรับประมาณการลง 11% จากประมาณการเดิม เนื่องจากต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น โดยราคาต่อหน่วยที่ได้รับอาจลดลง
"จุดเด่นบริษัทในแง่การเติบโตแม้จะค่อยมาก แต่ในแง่ศักยภาพ ความแข็งแกร่งกระแสเงินสด เรื่องลูกค้า ค่อนข้างจะได้เปรียบ และ เป็นหุ้นจ่ายปันผลค่อนข้างดีสม่ำเสมอ ในระยะสั้นคิดว่าราคาหุ้นจะยังไม่มีผลเชิงบวก แต่เห็นว่า valuation หรือราคายังค่อนข้างถูก เทรดกันที่ 8 เท่า ยังน่าสนใจ บริษัทยังทำกำไร เพียงอัตรากำไรอาจถดถอยตามสภาพ" นางสาวนารี กล่าว
บล.เอเซียพลัส ระบุ HANA เปิดเผยถึงสาเหตุของยอดคำสั่งซื้อทั้งกลุ่ม IC Packaging และ PCBA (ทั้งสองกลุ่มผลิตภัณฑ์คิดเป็นสัดส่วนราว 93% ของยอดขายรวม)ในงวดไตรมาส 4/53 ที่หดตัวลง เป็นผลจากช่วง Low season ของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบกับ ลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทฯ ได้ปรับสต็อกสินค้าคงคลังในช่วงปลายปี 53 ส่งผลให้เกิดการชะลอคำสั่งซื้อ อีกทั้ง HANA คาดว่าผลกระทบดังกล่าว จะทำให้ยอดคำสั่งซื้อในไตรมาส 1/54 ยังชะลอตัวต่อเนื่องจากงวดที่ผ่านมา แต่จะเริ่มทยอยฟื้นตัวอีกครั้งในงวดในไตรมาส 2/54 เป็นต้นไป
สำหรับภาพธุรกิจทั้งปี 54 คาดว่ายอดขายในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะเติบโตราว 10.5% yoy อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงในเรื่องแนวโน้มเงินบาทที่ผันผวน และราคาวัตถุดิบที่อาจปรับตัวเพิ่มขึ้น ถือเป็นประเด็นที่ฝ่ายวิจัยเคยนำเสนอในช่วงที่ผ่านมา และเป็นปัจจัยที่กดดันต่อ Gross margin โดยรวมในปี 54 ซึ่งจะไปหักล้างกับการเติบโตของยอดขายรวมในปี 54 ทำให้คาดการณ์กำไรสุทธิปี 54 หดตัวราว 8.2% yoy
แนะ"ถือ" รับเงินปันผลที่บริษัทประกาศจ่าย 1.55 บาทต่อหุ้น หรือคิดเป็นอัตราผลตอบแทนที่ระดับ 6%
ทั้งนี้ HANA มีคำสั่งผลิตจากการผลิตชิ้นส่วนสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ประเภท Smart phone ซึ่งได้แก่ Touchpad, อุปกรณ์ GPS และกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งได้แก่ อุปกรณ์ Sensor ที่ใช้ในส่วนต่างๆ ของรถยนต์ ที่ยังคงเติบโตต่อเนื่อง