บมจ.ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์(TUF) คาดว่าปี 54 ยอดขายและกำไรจะเติบโตมากกว่า 30% โดยได้รับผลดีเต็มที่จากการซื้อกิจการ MW Brands(MWB) ที่จะช่วยให้บริษัทรุกตลาดยุโรปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในปีนี้คาดว่าจะทำยอดขายได้ถึง 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ และตั้งเป้าหมายในปี 58 รายได้จะสูงขึ้นแตะ 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ ในไตรมาส 1/54 บริษัทคาดว่าจะมียอดขายเติบโตขึ้นจากไตรมาส 4/53 ซึ่งส่วนหนึ่งจะมาจากแผนปรับขึ้นราคาสินค้า นอกจากนั้น ในปีนี้บริษัทจะเน้นกลยุทธการลดภาระดอกเบี้ย ลดต้นทุน พร้อมกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และขยายตลาด
นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร TUF เชื่อมั่นว่า ยอดขายในปีนี้จะเติบโตมากกว่า 30% เนื่องจากปีนี้จะมีการรับรู้รายได้จาก MWB เต็มปีจำนวน 700 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะทำให้อัตราการทำกำไรในภาพรวมของบริษัทสูงขึ้น เนื่องจาก MWB มีอัตรากำไร(Profit margin) สูงกว่า TUF
นอกจากนี้ ยังจะมีรายได้จากบริษัท ยูเอสเพ็ท นูทรีชั่น จำกัด ที่ตั้งขึ้นเมื่อ ต.ค.53 เพื่อดำเนินการผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์เลี้ยงในสหรัฐ ซึ่งพร้อมจะเปิดดำเนินการในไตรมาส 3/54 ทั้งหมดจะเป็นกลไกทำให้กำไรเติบโตในทิศทางเดียวกับรายได้ที่มากกว่า 30% ในปีนี้
บริษัทคาดว่าอัตรากำไรขั้นต้น(Gross profit margin)ของบริษัทในปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 17% หลังรับรู้รายได้จาก MWB จากปี 53 ที่ Gross profit margin ลดลงเหลือ 13.3% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากค่าใช้จ่ายในการเข้าซื้อกิจการ MWB จากปกติ Gross profit margin ของบริษัทจะอยู่ที่ 15%
"ผลประกอบการปี 53 ที่กำไรลดลง 14% มาจากความผันผวนของหลายปัจจัย ทั้งราคาทูน่า เงินบาทที่แข็งค่า มีค่าใช้จ่ายในการซื้อ MWB และค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ที่ซื้อ MWB แต่ยืนยันว่าพื้นฐานเรายังเป็นปกติ ธุรกิจเรายังเข้มแข็ม เพราะการซื้อ MWB เราได้ 4 แบรนด์หลักในยุโรป และ 4 โรงงานหลักด้วย"นายธีรพงศ์ กล่าว
นอกจากนี้ บริษัททยอยปรับขึ้นราคาสินค้าในไตรมาส 1/54 หลังจากราคาทูน่าปรับขึ้นจาก 1,300 เหรียญสหรัฐ/ตันในช่วงสิ้นปี 53 มาอยู่ที่ 1,600 เหรียญสหรัฐ/ตันในเดือน ก.พ. ทำให้บริษัทปรับขึ้นราคาสินค้าประมาณ 20% และจะทยอยปรับขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม บริษัทตั้งเป้าที่จะลดอัตราหนี้สินต่อทุน(D/E)จาก 1.6 เท่า เหลือ 1.1 เท่าในช่วง 3 ปี(ปี 54-56) ดังนั้น บริษัทก็จะไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่อีกในระยะนี้ โดยมีเป้าหมายที่จะลงทุนไม่เกิน 3,000 ล้านบาท/ปี ซึ่งในปีนี้บริษัทจะมีการลงทุนเพื่อปรับปรุงโรงงานและจัดซื้อเครื่องจักรเพิ่มเติมเท่านั้น และกำหนดกรอบนโยบายการจ่ายเงินปันผลไม่เกิน 1,200 ล้านบาท/ปี นอกจากนี้ จะเน้นชำระคืนเงินกู้ให้เร็วขึ้น โดยหวังที่จะลดภาระดอกเบี้ยจ่าย จากปัจจุบันมีต้นทุนเงินกู้เฉลี่ยอยู่ที่ 5.6% เหลือต่ำกว่า 5%
ทั้งนี้ ในปี 54 บริษัทได้ขออนุมัติคณะกรรมการบริษัทออกหุ้นกู้ชุดใหม่วงเงิน 15,000 ล้านบาท เพื่อชำระคืนหนี้เดิมและรองรับการขยายตัวในอนาคต โดยจะนำเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติในเดือน เม.ย.54 และในเดือน มิ.ย.54 บริษัทมีหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอน จำนวน 3,200 ล้านบาท ส่วนจะมีการออกหุ้นกู้ใหม่มาชดเชยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับจังหวะโอกาส ขณะที่ปัจจุบันบริษัทยังมีเงินกู้จากสถาบันการเงินเพียงพอ
นายธีรพงศ์ กล่าวอีกว่า จากกรณีภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะเหตุการณ์สึนามิในเมืองเซนได ที่เป็นเมืองท่าและทำการประมง เกิดผลกระทบต่อโรงงานผลิตอาหารทะเลและอุตสาหกรรมประมงส่วนหนึ่งได้รับความเสียหาย ซึ่งมองว่า TUF น่าจะได้รับผลดีจากความต้องการนำเข้าอาหารทะเลของญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากไทยเป็นแหล่งผลิตทูน่ารายใหญ่ที่สุด ปัจจุบัน บริษัทมีการส่งออกสินค้าไปประเทศญี่ปุนประมาณ 20% ของปริมาณส่งออกทั้งหมด และมีรายได้จากญี่ปุ่นประมาณ 12% ของรายได้รวม
"เซนไดเป็นเมืองที่เป็นแหล่งทำประมงและโรงงานผลิตอาหารทะเล เมื่อเกิดความเสียหาย คาดว่จะทำให้ทูน่า ซาร์ดีน แซลมอล มีความต้องการจากญี่ปุ่นมากขึ้น คาดว่าญี่ปุ่นยังต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูประเทศไม่ต่ำกว่า 2 เดือน เพราะตอนนี้ยังมีเหตุการณ์ต่างๆ ตามมาอยู่" นายธีรพงศ์ กล่าว