บลจ.ฟินันซ่า ออก FAM ACF ลงทุนกองทุนเอเชียเว้นญี่ปุ่น

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday March 22, 2011 12:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีรพันธุ์ จิตตาลาน กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ฟินันซ่า เปิดเผยว่า บริษัทออกกองทุนฟินันซ่า เอเชียน คอนซัมซั่น (FAM ACF) มูลค่าโครงการ 2,000 ล้านบาท เริ่มขาย (IPO) 21 มี.ค. - 5 เม.ย. 54

กองทุน FAM ACF เป็นกองทุนรวมหน่วยลงทุน (Feeder Fund ลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน UBS Asian Consumption) ที่ลงทุนในต่างประเทศและเป็นกองทุนรวมหมวดอุตสาหกรรม ที่ลงทุนในกลุ่มประเทศเอเชียไม่รวมญี่ปุ่น อันเป็นธุรกิจการขายสินค้าหรือให้บริการแก่ผู้บริโภคในเอเชีย ทั้งนี้ มีการถ่วงดุลการลงทุนโดยการกระจายพอร์ตในทั้งสินค้าบริโภคจำเป็น สินค้าบริโภคฟุ่มเฟือย (โทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์) และสินค้าสุขภาพ ในหลากหลายประเทศ อาทิ อินเดีย จีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ เป็นต้น

นายธีรพันธุ์ เห็นว่า กองทุน FAM ACF อาจจะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของตลาดโดยรวมบ้าง แต่ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทที่ลงทุนอย่างมีนัยยะ เนื่องจากกองทุนไม่ได้มีการลงทุนในประเทศญี่ปุ่น และกองทุนยังมีการลงทุนใน defensive stock เช่น บุหรี่ ซึ่งผลการดำเนินงานจะไม่ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจเท่าใดนัก

นอกเหนือจากนั้นบริษัทที่กองทุนเลือกลงทุนบางบริษัท อาทิ ซัมซุง หรือ ฮุนได ยังอาจมีส่วนแบ่งในตลาดที่เพิ่มขึ้นจากการเป็นสินค้าทดแทนกำลังการผลิตที่ขาดหายไปในญี่ปุ่นอีกด้วย

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเอเชียพื้นตัวอย่างเข้มแข็งและเป็นผู้นำการเติบโตของโลก โดยการอุปโภคบริโภคของชาวเอเชียเป็นแรงขับเคลื่อนหลักสำหรับการเติบโตของตลาดเกิดใหม่เหล่านี้ ปัจจัยพื้นฐานที่สนับสนุนแนวโน้มการเติบโตของเอเชียนั้นประกอบด้วยทั้งด้านประชากร การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้าง และวัฒนธรรมการบริโภค ประชากรเอเชียที่เข้าสู่วัยทำงานและมีรายได้เพื่อการอุปโภคบริโภคมีมากกว่าประเทศในแถบยุโรปหรืออเมริกา การเปลี่ยนแปลงจากสังคมชนบทสู่สังคมเมืองทำให้อัตราการจ้างงานและรายได้ต่อครัวเรือนสูงขึ้น และการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมประกอบการมีเงินออมสูงขึ้นทำให้พฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่มีการจับจ่ายใช้สอยเพื่อความสะดวกสบายหรูหราเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น เอเชียมีความโดดเด่นในศักยภาพการขยายตัวในอนาคต จะเห็นได้ว่าประชากรในประเทศแถบเอเชียมีการออมในระดับสูงในขณะที่หนี้สินภาคครัวเรือนอยู่ในระดับต่ำ บวกกับอัตราการครอบครองสินค้าในปัจจุบันก็อยู่ในระดับต่ำเช่นกัน อีกทั้งสินค้าภายใต้แบรนด์เอเชียกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดและมีการพัฒนาสู่ระดับภูมิภาคจนถึงระดับโลก เช่น Lenovo, Samsung, LG, Esprit


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ