(เพิ่มเติม) STA คาดปี 54 รายได้โต 30-40% แตะ 1 แสนลบ.,ปริมาณขาย 1 ล้านตัน

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 24, 2011 12:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี(STA)ตั้งเป้ารายได้ปี 54 ที่ 1 แสนล้านบาท โดยเติบโต 30-40% จากปีก่อนที่มีรายได้ 8.4 หมื่นล้านบาท และคาดว่าปริมาณขายยางในปีนี้จะเพิ่มขึ้น 12% เป็น 1 ล้านตัน จากปีก่อน 8.4 แสนตัน และจะเติบโตเป็น 1.2 ล้านตันในปี 55 เนื่องจากบริษัทมีการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปีนี้จะลงทุนประมาณ 2 พันล้านบาท เพื่อขยายโรงงานผลิตยางแท่งและขยายพื้นที่สวนยางพารา

นายกิติชัย สินเจริญกุล กรรมการ STA กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทจะรักษาอัตรากำไรขั้นต้นที่ 6-8% เช่นเดียวกับที่รักษาไว้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยบริษัทจะแบ่งขายล่วงหน้าเป็นสัญญาระยะยาว 30% ซึ่งขณะนี้ได้ขายล่วงหน้าไปถึงเดือน พ.ค.แล้ว ส่วนอีก 70% ขายตามราคาตลาด

นอกจากนี้ บริษัทเพิ่มสัดส่วนการขายยางแท่งให้มากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนรายได้เป็น 80% ในปี 55 จากปี 53 ที่มีสัดส่วนการขายที่ 70% ส่วนยางแผ่นรมควันมี 18% และ น้ำยางข้น 10% ที่เหลือ 2% เป็นธุรกิจอื่น

ทั้งนี้ บริษัทมีแผนใช้เงินลงทุน 2 พันล้านบาทในปีนี้ และปีหน้าตั้งงบลงทุนอีก 2 พันล้านบาทเพื่อขยายกำลังการผลิตยางแท่งเพิ่มขึ้น และมีเป้าหมายขยายพื้นที่สวนยางเป็น 5 หมื่นไร่ในปี 58

"เรายืนเหมือนเดิม จะให้ความสำคัญการการขยายการผลิตยางแท่ง ส่วนต้นน้ำ การปลูกต้นยางก็ต้องใช้เวลา ส่วนปลายน้ำเราทำอย่างเดียวคือถุงมือยางซึ่งเราทำอยู่ แต่เราจะไม่ทำยางล้อ ...เราพยายาม maintain gross profit margin ที่ 6-8% แต่ที่ผ่านมา gross profit margin ไม่มีเสถียรภาพ เพราะซัพพลายมีมากเกินไป" นายกิติชัยกล่าว

นอกจากนี้ บริษัทยังมีเป้าหมายจะขยายการผลิตยางแท่งไปถึง 1.5 ล้านตันภายในปี 58 เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดโลกถึง 15% จากปัจจุบันมี 8% เพื่อสร้างอำนาจต่อรองทั้งการจัดหาวัตถุดิบ และด้านการตลาด

นายกิติชัย คาดว่าราคายาง(รวมยางแท่ง ยางแผ่นรมควัน และ น้ำยางข้น) ในตลาดโลกในปีนี้เฉลี่ยเกิน 4 พันเหรียญ/ตัน สูงจากปีก่อนที่มีราคาเฉลี่ย 3.3- 3.5 พันเหรียญ/ตัน โดยขณะนี้ราคาเกินกว่า 5 พันเหรียญ/ตัน ขณะที่ราคายางพาราในไทยกลับเข้าสู่ภาวะปกติที่ระดับ 150 บาท/กก.ซึ่งสะท้อนดีมานด์และซัพพลาย

ในช่วงปลาย ก.พ.-กลาง มี.ค.ราคายางในตลาดโลกปรับตัวลงมาอย่างรุนแรงหลังจากที่ราคาขึ้นไปสูงุสุดที่ 6 พันเหรียญ/ตัน สำหรับยางแท่ง ประจวบกับเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในญี่ปุ่น แต่จากการที่ไทยและอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตยางพาราอันดับหนึ่งและสองรวมกัน 60%ของการผลิตโลกได้ส่งสัญญาณชะลอการส่งออก และในช่วงกลางมี.ค.-ต้นพ.ค. จะไม่มีการกรีดยางเพราะเป็นช่วงผลัดใบของต้นยาง ส่งผลให้ราคายางกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

ทั้งนี้ บริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนราคายาง และไม่ได้ขาดทุนสต็อก เพราะบริษัทได้มีการซื้อขายจริงกับผู้ผลิตยางรถยนต์ โดยมีจีน อินเดีย และประเทศแถบเอเชีย มีความต้องการมากขึ้น รวมทั้งสหรัฐและยุโรปก็มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัว เศรษฐกิจ ขณะที่เหตุการณ์ภัยพิบัติในญี่ปุ่นก็ไม่ได้ส่งผลกระทบแต่อย่างใดเพราะญี่ปุ่นไม่ได้เป็นผู้ผลิตยางรายใหญ่

ในปี 53 ยอดขายของบริษัทเป็นการส่งออกไปในตลาดเอเชีย 65.7% โดยในส่วนนี้เป็นจีน 36.6% นอกจากนั้น เป็นตลาดในประเทศ 17.3%, สหรัฐ 10.1% และยูโรป 6.6% ที่เหลืออื่นๆ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ