ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กร-ตราสารหนี้ PTTEP ที่ AAA แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 24, 2011 15:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บมจ.ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ที่ระดับ “AAA" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตสะท้อนสถานะผู้นำในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย ปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่มีมากพอ การสนับสนุนจากภาครัฐในฐานะที่เป็นตัวแทนรัฐบาลไทยในการถือสัมปทานปิโตรเลียม และฐานะทางการเงินที่ดี นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงการซื้อหุ้นในสัดส่วน 40% ของโครงการทรายน้ำมัน Kai Kos Dehseh Oil Sands (KKD) ที่ประเทศแคนาดา และความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศด้วย

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ว่าบริษัทจะยังคงดำรงฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งต่อไปได้ แม้จะต้องเผชิญกับแผนการลงทุนที่สูงในช่วงปี 2554-2558 ทั้งนี้ คาดว่าอัตราการก่อหนี้ของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2555 จากการดำเนินตามนโยบายทางการเงินอย่างระมัดระวังและเข้มงวด อีกทั้งยังคาดว่าโครงการมอนทาราจะเริ่มการผลิตได้ตามแผนโดยไม่มีปัญหาทางกฎหมายหรือใบอนุญาตการดำเนินงาน

PTTEP เป็นบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมระดับแนวหน้าของประเทศซึ่งก่อตั้งในปี 2528 ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อถือสิทธิ์สัมปทานปิโตรเลียมในนามของรัฐบาลไทย ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2554 บมจ.ปตท.(PTT) ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันและก๊าซแห่งชาติถือหุ้นใน PTTEP จำนวน 65.3% ทั้ง PTT และ PTTEP ยังคงมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้พระราชบัญญัติงบประมาณของไทย การเป็นตัวแทนของรัฐที่ทำหน้าที่สำรวจและผลิตปิโตรเลียมจึงมักทำให้ PTTEP ได้รับประโยชน์ในการเข้าร่วมโครงการสัมปทานปิโตรเลียมที่สำคัญ ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ณ เดือนธันวาคม 2553 PTTEP มีปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่พิสูจน์แล้วทั้งหมดซึ่งรวมถึงแหล่งน้ำมันในต่างประเทศที่ระดับ 1,043 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ลดลง 5.1% เมื่อเทียบกับปี 2552 โดยสัดส่วนสำรองจากโครงการในต่างประเทศคิดเป็น 41% ของปริมาณสำรองที่พิสูจน์แล้วในปี 2553 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากสัดส่วน 40% ในปี 2552 เมื่อพิจารณาจากปริมาณขายที่ 264,575 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันในปี 2553 แล้ว ปริมาณสำรองปิโตรเลียมของบริษัทน่าจะผลิตได้นานประมาณ 9 ปี ซึ่งต่ำกว่าปริมาณสำรองของผู้ประกอบการระดับโลกที่มีค่าเฉลี่ยระหว่าง 10-15 ปีเล็กน้อย ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2554 บริษัทมีโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรวมทั้งสิ้น 44 โครงการ โดย 20 โครงการอยู่ในขั้นตอนการผลิต และที่เหลืออยู่ในขั้นตอนการสำรวจและพัฒนา

เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ประกอบการระดับโลกรายอื่นแล้ว ทริสเรทติ้งกล่าวว่าประสิทธิภาพในการดำเนินงานของ PTTEP จัดว่าอยู่ในระดับที่แข่งขันได้แม้ว่าต้นทุนต่าง ๆ จะเพิ่มขึ้น โดยค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรงในการผลิต (Lifting Cost) ของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 3.16 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบในปี 2552 เป็น 3.75 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบในปี 2553 ซึ่งเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นในโครงการผลิตแหล่งใหม่เป็นสำคัญ บริษัทมีต้นทุนเฉลี่ยในการสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียมในระยะ 3 ปีที่ผ่านมาสิ้นสุด ณ ปี 2553 เพิ่มขึ้นเป็น 13.58 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบจาก 11.10 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบในปี 2552

ทั้งนี้ คาดว่าต้นทุนเฉลี่ยในการสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียมจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบในปี 2554 ภายหลังจากรวมต้นทุนการซื้อโครงการ KKD มูลค่า 2,276 ล้านดอลลาร์สหรัฐและค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนที่เพิ่มขึ้นตามแผน แม้ว่าโครงการ KKD จะช่วยทำให้ปริมาณสำรองของบริษัทแข็งแกร่งขึ้นในระยะยาว แต่ต้นทุนการผลิตของโครงการจากแหล่งนอกรูปแบบ (Unconventional) จะสูงกว่าโครงการปกติ (Conventional) อีกทั้งบริษัทยังอาจเผชิญกับความเสี่ยงจากการดำเนินงานจนกว่าระดับการผลิตของโครงการ KKD จะเพิ่มขึ้นเต็มที่ในปี 2558

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ฐานะทางการเงินของ PTTEP ยังคงแข็งแกร่งแม้คาดว่าจะอ่อนตัวลงในปี 2554 แม้เงินบาทจะแข็งค่า 6.6% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แต่บริษัทก็ยังมียอดขายเพิ่มขึ้น 19.8% เป็น 138,474 ล้านบาทในปี 2553 จากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น 13.2% เป็น 264,575 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันและราคาขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น 13.4% อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจาก 71.6% ในปี 2552 เป็น 72.1% ในปี 2553 ในขณะที่อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายลดลงจาก 46.2 เท่าในปี 2552 เป็น 40 เท่าในปี 2553

ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนของบริษัทสำหรับปี 2554-2558 ที่ระดับ 55,000-95,000 ล้านบาทต่อปีนั้นสูงกว่าแผนเดิมที่ตั้งไว้ที่ 30,000-80,000 ล้านบาทต่อปี โดยส่วนที่เพิ่มขึ้นมาจากต้นทุนการผลิตและพัฒนาที่สูงขึ้นของโครงการใหม่ ๆ อาทิ KKD ซึ่งประมาณ 49% ของค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนดังกล่าวจะเป็นการลงทุนในโครงการในประเทศไทย ส่วนที่เหลือจะลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (23%) อเมริกาเหนือ (18%) ประเทศออสเตรเลีย (6%) และอื่น ๆ (4%)

งบลงทุน 94,475 ล้านบาทในปี 2554 คาดว่าจะมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทจำนวน 70,000-80,000 ล้านบาทต่อปีและจากเงินกู้เพิ่มเติมอีก 20,000 ล้านบาท โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะอยู่ในระดับสูงสุดในปี 2554 หลังจากที่จ่ายชำระเงินลงทุนในโครงการ KKD และงบลงทุน 94,475 ล้านบาทสำหรับการผลิตและพัฒนาในปี 2554 อย่างไรก็ตาม คาดว่าอัตราการก่อหนี้จะปรับตัวดีขึ้นในปี 2555 และ 2556 จากการที่ PTTEP จะเริ่มการผลิตในโครงการใหม่ ๆ หลายแห่งระหว่างปี 2554-2556 ทั้งนี้ การเริ่มผลิตของโครงการต่าง ๆ ทั้งโครงการ KKD มอนทารา เวียดนาม 16-1 บงกชใต้ เอ็ม 9 และแอลจีเรียจะช่วยเพิ่มปริมาณขายของบริษัท และเพิ่มกระแสเงินสดให้แก่บริษัทในปี 2555 และ 2556


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ