(เพิ่มเติม) BANPUเชื่อส่งออกถ่านหินไปญี่ปุ่นไม่กระทบ,เพิ่มผลผลิตในอินโดฯ-ออสตรเลีย

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 28, 2011 12:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู(BANPU) กล่าวว่า การส่งออกถ่านหินไปยังญี่ปุ่นไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยพิบัติมากนัก โดยปกติบริษัทจะส่งถ่านหินไปขายให้กับ บริษัท โตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ (เทปโก) และลูกค้าอีก 1 ราย รวมปีละไม่เกิน 1 ล้านตัน ซึ่งก่อนเกิดเหตุได้ส่งถ่านหินขนส่งทางเรือไป 2 ลำ ทำให้ต้องย้ายไปขึ้นที่ท่าเรืออื่น จากเดิมที่ขึ้นที่เมืองเชนได

ส่วนจำนวนถ่านหินที่จะต้องส่งมอบในช่วงที่เหลือของปี ก็คงต้องให้ลูกค้าแจ้งว่าจะต้องส่งมอบอย่างไร และที่ไหน แต่เชื่อว่าปริมาณที่จะส่งไปขายยังเท่าเดิม เพียงแต่อาจจะต้องย้ายสถานที่ขนส่ง

นายชนินท์ กล่าวว่า ปกติซัพพลายและดีมานด์ถ่านหินในญี่ปุ่นไม่เพียงพอและขาดแคลนอยู่แล้ว ทำให้ญี่ปุ่นต้องสั่งซื้อถ่านหินจากแหล่งอื่นเข้าไปใช้ แต่หากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทำให้โรงไฟฟ้าหลายแห่งต้องปิดไปก็ยังไม่รู้ว่าสถานการณ์ความต้องการถ่านหินจะเป็นอย่างไร แต่เชื่อว่าความเสียหายจากโรงไฟฟ้าอื่น ๆ นอกเหนือจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์คงไม่มาก แต่ในเมืองเชนได ท่าเรือและการขนส่งอาจจะมีปัญหาและอุปสรรคบ้าง

นอกจากนั้น ความต้องการถ่านหินในตลาดโลกระยะ 2-3 ปีข้างหน้าจะมีความแข็งแกร่งมากขึ้น หลังจากที่เกิดปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่น และแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลกก็ดีขึ้นในปีนี้ โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐ ขณะนี้ราคาถ่านหินปรับขึ้นมาในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมัน โดยอยู่ที่ 123-124 เหรียญสหรัฐ/ตัน

อย่างไรก็ตาม คาดว่าหลังจากเข้าช่วง เม.ย.-พ.ค.ที่แหล่งถ่านหินในอินโดนีเซียเข้าสู่ฤดูแล้ง ซัพพลายก็น่าจะมีเข้ามาเพิ่มขึ้น ราคาถ่านหินก็คงจะอ่อนตัวลง

นายชนินท์ กล่าวอีกว่า จากการที่บริษัทขายเงินลงทุนในเหมืองต้าหนิงในจีนออกไป จะทำให้การรับรู้กำไรที่เคยได้รับหายไป ซึ่งในปี 53 เคยได้รับ 2.5 พันล้านบาท และปี 52 จำนวน 3 พันล้านบาท ขณะที่บริษัทคาดว่าจะมีกำไรจากการขายหุ้นเหมืองต้าหนิงเข้ามาชดเชยบางส่วน แต่จะไม่กระทบกับเป้าหมายปริมาณยอดขายที่ 44-45 ล้านตัน รวมทั้ง บริษัทมองแนวทางการเพิ่มผลผลิตจากแหล่งถ่านหินในอินโดนีเซียและออสเตรเลียเข้ามาทดแทน

"ปีนี้กำไรจากคต้าหนิงก็จะหายไป ก็คิดว่ากำไรจากการขายเงินลงทุนก็จะชดเชยได้บางส่วน แต่เราก็จะเพิ่มกำลัง capacity ในแหล่งที่เรามีอยู่ในอินโดนีเซียและออสเตรเลีย"นายชนินท์ กล่าว

ส่วนการลงทุนเหมืองถ่านหินในมองโกเลีย ด้วยการเข้าถือหุ้น 12% โดยบริษัทใช้เงินกู้ 45 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งนอกเหนือจากแผนลงทุน 5 ปี คาดว่าภายใน 2-3 ปีจะสามารถเริ่มพัฒนาแหล่งถ่านหินดังกล่าวเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมถลุงเหล็กที่แนวโน้มมีความต้องการค่อนข้างสูง ส่วนแหล่งถ่านหินอื่นคงยังต้องสำรวจต่อไป

นายชนินท์ กล่าวว่า บริษัทมองว่าความเสี่ยงของธุรกิจในปีนี้อยู่ที่ราคาน้ำมันที่มีผลกระทบจากสถานการณ์ในตะวันออกกลาง และปัญหาการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยปัญหาญี่ปุ่นอาจจะส่งผลกระทบ รวมทั้งทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่จะปรับตัวสูงขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ